การวาดภาพทิวทัศน์ (Landscape)

การวาดภาพทิวทัศน์ แสดงลักษณะธรรมชาติของภูมิประเทศที่ปรากฏให้เห็นโดยทั่วไป เช่น ทุ่งหญ้า ท้องนา ภูเขา ทะเล บ้านเรือน เป็นต้น และผู้วาดจะซึบซับความงามที่อยู่รอบๆ ตัวนี้จนเกิดเป็นแรงบันดาลใจ และถ่ายทอดออกมาเป็นผลงานศิลปะ ซึ่งจะเป็นภาพที่มีมุมมอง มีระยะใกล้ ไกล แสดงบรรยากาศที่สวยงาม ทั้งรูปทรง สัดส่วน สีสัน แสงเงา




ลักษณะของภาพทิวทัศน์ที่ดีจะต้องมีระยะและมิติของภาพซึ่งประกอบไปด้วย Foreground, Middleground, Background 



"ภาพทิวทัศน์บก" คือ ภาพที่แสดงความงามของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมบนบก บนพื้นดินเป็นหลัก เช่น ท้องนา ทุ่งหญ้า ป่า ต้นไม้ ดอกไม้ แม่น้ำ ฯลฯ



"ภาพทิวทัศน์ทะเล" คือ ภาพที่แสดงความงามของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่เป็นทะเลเป็นหลัก เช่น ชายหาด โขดหิน คลื่น เรือ ชาวประมง ฯลฯ



"ภาพทิวทัศน์สิ่งก่อสร้าง" คือ ภาพที่แสดงความงามของอาคารบ้านเรือนและสิ่งก่อสร้าง รวมทั้งธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมรอบๆ อาคาร

.........................................................



"การวาดภาพทิวทัศน์แบบเหมือนจริง" (Realistic) ก็คือการวาดให้เหมือนจริงทั้งรูปทรง สัดส่วน แสงเงา สี ระยะใกล้ไกล 



"การวาดภาพทิวทัศน์แบบตัดทอน" (Distortion) เป็นการใช้สายตา ความคิดสร้างสรรค์ และอารมณ์ ลดทอนรูปทรงจากภาพจริงให้เป็นไปตามจินตนาการของผู้สร้างสรรค์ผลงาน



"การวาดภาพทิวทัศน์แบบนามธรรม" (Abstraction) เป็นการใช้อารมณ์ความรู้สึกแทนค่ารูปทรงและความเหมือนจริง
.................................................................................


ขั้นตอนการวาดภาพทิวทัศน์แบบง่ายๆ โดย "ครูช้าง"


ร่างภาพส่วนรวมจัดภาพให้เหมาะสมกับหน้ากระดาษ ร่างรายละเอียดแต่ละส่วน 



ลงน้ำหนักโดยรวม



เพิ่มน้ำหนักแสงเงา และตกแต่งรายละเอียด 
จนเป็นที่เสร็จเรียบร้อย
...................................................................................




เทคนิคการสร้างสรรค์ภาพทิวทัศน์

1. "ต้องสร้างความประทับใจ" ในธรรมชาติ ก่อนวาดภาพทิวทัศน์ควรเลือกทัศนียภาพที่เราชอบ เพราะความชอบจะสร้างแรงบันดาลใจเป็นพลังที่ทำให้เราสร้างสรรค์งานได้ดีกว่าวาดรูปที่ไม่ชอบ

2. "วิเคราะห์ภาพทิวทัศน์" ใช้สายตามอง คิด และวิเคราะห์รายละเอียดของภาพทิวทัศน์ที่จะวาด ว่ามีรูปร่าง สัดส่วน ลักษณะผิว แสง สี และช่องว่าง ว่ามีลักษณะเช่นไรภาพที่เหมาะแก่การวาดควรจะมีรายละเอียดที่ชัดเมื่อวิเคราะห์แล้วก็ฝึกวาดแบบร่างก่อนหลายๆ ครั้ง

3. "เลือกมุมมองและจัดภาพ" การเลือกมุมมองของภาพนั้นสำคัญมาก ซึ่งสามารถหามุมที่ดีได้โดยสร้างกรอบมองภาพ ด้วยกระดาษแข็งตัดช่องสี่เหลี่ยมตรงกลาง กว้าง 2 นิ้ว x ยาว 3 นิ้ว เพื่อใช้มองภาพ และหลักง่ายๆ ที่ภายในกรอบสนามภาพควรมีก็คือ จุดสนใจ เอกภาพ และดุลยภาพ



"จุดสนใจ หรือ จุดเด่น" ที่เป็นจุดที่สร้างความสนใจสะดุดตา และควรมีเพียงจุดเดียวทั้งภาพและเนื้อหาที่สื่อออกมา ไม่ควรวางจุดเด่นไว้ตรงกลางเพราะทำให้ภาพดูน่าเบื่อ

"เอกภาพ" คือ การจัดภาพให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกลมกลืนและสัมพันธ์กัน เพื่อป้องกันความสับสน

"ดุลยภาพ หรือ สมดุล" คือ การจัดภาพให้ถ่วงดุลกันพอดี เช่น ซ้ายขวาเท่ากัน หรือ แบบซ้ายขวาไม่เท่ากันก็ได้ และเสน่ห์ของการจัดวางแบบซ้ายขวาไม่เท่ากัน คือ องค์ประกอบในภาพซ้ายขวาไม่เหมือนกัน แต่มองดูแล้วเท่ากัน ซึ่งภาพดูน่าสนใจมากกว่า

และสุดท้ายก็คือ "ร่างภาพด้วยเส้นทัศนียภาพ" ในหัวข้อนี้สำคัญมากเพราะจะทำให้ภาพมีมิติ มีระยะ มีความสมจริงมากยิ่งขึ้น

เรียบเรียงจากอินเตอร์เน็ต - kruchang @ 2017

ความคิดเห็น

  1. ความคิดเห็นนี้ถูกลบโดยผู้ดูแลระบบของบล็อก

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. ความคิดเห็นนี้ถูกลบโดยผู้ดูแลระบบของบล็อก

      ลบ

แสดงความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

มารู้จักภาพทัศนียภาพ - Perspective

การวาดภาพทิวทัศน์แบบง่ายๆ ที่ใครๆ ก็สามารถวาดได้