การพัฒนาตนเอง 6 ประการ สู่ความสำเร็จในอนาคต
1.การตั้งเป้าหมายหรือการตั้งความหวังถูกต้องหรือไม่
การดำรงชีวิตของแต่ละคนจะมีความหมายคงจะต้องมีความหวังในชีวิตควบคู่กันไปโดยทั่วไประดับความหวังในแต่ละวัยอาจแตกต่างกัน แต่อย่างน้อยที่สุดก็คงหวังให้มีอาชีพที่เลี้ยงตัวเองได้และมีความก้าวหน้า โดยมีฐานะระดับหนึ่งในสังคม
ดังนั้น การตั้งเป้าหมายหรือตั้งความหวังต้องไม่สูงเกินไปหรือยากเกินไปกว่าความสามารถของตนเองที่จะทำได้ และต้องสอดคล้องกับความเป็นไปได้ในช่วงเวลาที่ตั้งใจ
เช่น ถ้าตั้งใจจะมีอาชีพเป็นแพทย์หรือวิศวกรคงต้องทราบพื้นฐานของอาชีพนั้นๆ ว่าต้องมีทักษะอย่างไรโดยเฉพาะอาชีพข้างต้นคงจะต้องมีทักษะการคิดวิเคราะห์ที่เป็นระบบและมีความเชี่ยวชาญเฉพาะเรื่อง ดังนั้น ถ้าขาดทักษะดังกล่าวก็อาจจะอยู่ในอาชีพนั้นอย่างมีความสุขได้ยาก ข้อสำคัญคือ ต้องรู้จักประเมินศักยภาพของตนเองว่ามีความสอดคล้องกับสิ่งที่ต้องการหรือไม่ กล่าวคือ ศักยภาพที่แท้จริงของตนเองมีมากหรือน้อยในด้านใดบ้าง
2.การมีกระบวนการที่ยืดหยุ่นเพื่อนำไปสู่เป้าหมาย
การจะทำอะไรให้ได้เป้าหมายที่ต้องการคงต้องคำนึงถึงปัจจัยที่จะทำให้ได้เป้าหมายที่ตั้งไว้ ถ้าเป้าหมายที่ตั้งไว้เป็นเป้าหมายที่สูงก็อาจต้องการระยะเวลาที่จะบรรลุถึงเป้าหมายตลอดจนปัจจัยหลายอย่างที่ต้องทำ
ดังนั้น การวางแผนที่ดีควรมีขั้นตอนที่ชัดเจนและควรกำหนดเวลาที่จะทำได้ในแต่ละขั้นตอน
เมื่อเริ่มดำเนินการบางขั้นตอนอาจมีอุปสรรคบางประการจึงควรมีการยืดหยุ่นในแง่ของกำหนดการตลอดจนผลลัพธ์ที่คาดหวัง ซึ่งอาจจำเป็นต้องมีการปรับแผนการดำเนินการเป็นระยะให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง
3.การพัฒนาศักยภาพภายในของตนเองอย่างสม่ำเสมอ
สิ่งที่จำเป็นและขาดไม่ได้ในการดำเนินการเรื่องใหญ่คือ ปัญญา ซึ่งหมายถึง ความรอบรู้ ความรู้ทั่ว การจะเกิดปัญญาได้คงจะต้องมีสมาธิ ซึ่งหมายถึง ภาวะจิตมั่นคง จิตแน่วแน่ การฝึกสมาธิมีหลายรูปแบบซึ่งคงมีผลลัพธ์ที่จะทำให้ผู้ฝึกสมาธิมีความสงบในจิตใจเพื่อให้ใช้ภาวะที่เกิดศักยภาพสูงในความคิดสร้างสรรค์ทางด้านต่างๆ ที่ต้องการ
การฝึกสมาธิที่ง่ายที่สุดคือ การสวดมนต์โดยเฉพาะบทสวดมนต์ที่ซึ่งมีคำสวดที่มีความมุ่งหมายดี
เช่น บทเมตตาพรหมะวิหาระภาวนา (มหาเมตตาใหญ่) ซึ่งเป็น ?บทบันทึกเรื่องราวและบทพระธรรมเทศนาที่สำคัญตอนหนึ่งของพระพุทธเจ้า ซึ่งถูกจารึกไว้ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 31 หน้าที่ 34 ชื่อ ?เมตตากถา?? บทยอดพระกัณฑ์ไตรปิฎก และบทพระคาถาชินบัญชร เป็นต้น การที่จะมีสมาธิได้คงจะต้องมีศีลซึ่งโดยทั่วไปก็ควรถือศีล 5 ให้ได้ เพื่อให้เป็นคนที่มีระเบียบวินัยในการดำรงชีวิต มีจริยธรรมที่ดีงามและไม่ขัดต่อวัฒนธรรมอันดีงามของสังคม
4.การหาตัวแบบที่ตนเองชื่นชม
การมีตัวแบบที่ดีทำให้การดำเนินการต่างๆ มีแนวปฏิบัติที่ดีและมีโอกาสพลาดน้อยลงเพราะแนวปฏิบัติที่ดีได้ผ่านการดำเนินการที่เหมาะสมมาแล้ว ผู้เขียนก็มีตัวแบบของบุคคลที่ควรเคารพนับถือและยึดเป็นแบบอย่างในการดำเนินชีวิตตลอดจนวิธีการทำงานซึ่งคงขออนุญาตเอ่ยนามท่านในที่นี้ คือ ศ.นพ.จรัส สุวรรณเวลา อดีตนายกสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อาจารย์เป็นบุคคลที่มีจิตใจเมตตากรุณาและเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่โดยเฉพาะมีวิธีการทำงานที่โยงหลักการทางพระพุทธศาสนาจึงทำให้ผู้ร่วมงานเข้าใจงานต่างๆ อย่างแจ่มแจ้ง การตัดสินใจแก้ปัญหาก็ทำด้วยความสุขุมรอบคอบ และมองประเด็นต่างๆ ทุกแง่มุม จึงทำให้ผลการดำเนินการบรรลุวัตถุประสงค์อย่างแยบยล
5.การศึกษาธรรมะ
คนไทยเป็นคนโชคดีที่มีศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ ซึ่งความโชคดีจะให้ผลดีในการดำเนินชีวิตคงจะต้องเข้าใจคำสอนของพระพุทธเจ้า โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับอริยสัจสี่ ซึ่งได้แก่ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค พุทธศาสนิกชนพึงเข้าใจว่าความทุกข์เป็นเรื่องธรรมดา ชีวิตของเราจะมีความสุขตามอัตภาพถ้ารู้จักทำให้ทุกข์ลดลง กล่าวคือ ต้องมีความเข้าใจว่าความทุกข์เกิดจากการเกิด แก่ เจ็บ และตาย จึงต้องทำใจให้ตระหนักเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวเป็นประจำว่าไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ส่วนสมุทัย คือ เหตุของการเกิดทุกข์นั้นเกิดจากความโลภ ความโกรธ และความหลง ซึ่งในสังคมไทยที่มีปัญหามากก็เกิดจากการไม่รู้จักพอ ผู้รับผิดชอบจึงควรเน้นการปลูกฝังแนวความคิดที่ดีให้กับเยาวชน ไม่ใช่เน้นพิธีกรรมมากเกินไป การจะดับทุกข์ได้คงต้องยึดหลักของ นิโรธ ซึ่งได้แก่ การละความโลภ ความโกรธ และความหลง ซึ่งถ้าเป็นคนที่ฝึกฝนตนเองดีด้วยการฝึกสมาธิก็อาจควบคุมตนเองในเรื่องเหล่านี้ได้มากขึ้น ส่วนการปฏิบัติให้ถึงการดับทุกข์คงต้องเข้าใจและยึดหลักเรื่อง มรรคแปดในการดำรงชีวิต ผู้อ่านจะเห็นได้ว่าถ้ามีความเข้าใจในสาระที่สำคัญของอริยสัจสี่ก็จะมีสติคิดได้ว่า ชีวิตของคนทุกคนมีขึ้นมีลง ไม่มีอะไรที่แน่นอนจึงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น
6.การทำบุญสม่ำเสมอ
คนทุกคนมีกรรมเก่าในอดีต บางคนจะไม่ค่อยมีอุปสรรคในการดำรงชีวิตมากนัก เพราะคงทำกรรมดีในอดีตและไม่ทำสิ่งไม่ดีในปัจจุบัน แต่บางคนอาจมีอุปสรรค่อนข้างมากหรือมีฐานะไม่ดีนัก อาจเป็นเพราะผลกรรมในอดีต ผู้เขียนเข้าใจว่าไม่มีใครแน่ใจว่าทำอะไรมาแล้วบ้างในแต่ละชาติ ยกเว้นผู้ที่ระลึกชาติเดิมได้เท่านั้น สิ่งที่ควรทำในชาตินี้ก็คือ การทำแต่ความดีเท่าที่ควรจะทำได้ ทั้งตามที่มีหน้าที่รับผิดชอบหรือนอกเหนือจากความรับผิดชอบ การทำบุญคือการรู้จักให้ ซึ่งน่าจะหมายถึง การให้ด้วยความเต็มใจ จึงน่าจะเป็นผลดีต่อผู้ให้และผู้รับ การแผ่เมตตาด้วยการกรวดน้ำหรือการสวดมนต์ก็อาจทำให้จิตใจของผู้ทำละได้ซึ่งความโลภ ความโกรธ และความหลงชั่วขณะหนึ่ง ถ้าทำบ่อยๆ ก็ทำให้การควบคุมจิตใจไม่ให้เกี่ยวข้องกับความโลภ ความโกรธ และความหลงนั้นดีขึ้น ซึ่งบทสวดมนต์บทหนึ่งที่ให้อานิสงส์ 11 ประการแก่ผู้ปฏิบัติ คือบทเมตตาพรหมะวิหาระภาวนา (มหาเมตตาใหญ่)
สิ่งที่เยาวชนควรตระหนักให้มากคือ การทำดีให้ได้ผลดีมีองค์ประกอบ 3 อย่างคือ 1.ถูกดี ซึ่งหมายถึงถูกต้องตามระเบียบแบบแผนหรือขั้นตอน 2.ถึงดี ซึ่งหมายถึง การทำดีต้องมีมากพอหรือตรงจุดที่ต้องการ เช่น การขยันอ่านให้มากและลึกซึ้งในส่วนที่ต้องพิจารณาให้ลึกซึ้ง และ 3.พอดี
ซึ่งหมายถึงดี รู้จักจังหวะจะโคน รู้จักกาลเทศะ
ผู้เขียนหวังว่าบทความนี้คงให้ข้อคิดบางประการต่อผู้อ่าน ซึ่งอาจยึดเป็นวิถีชีวิตที่ปรับใช้ให้เหมาะกับแต่ละบุคคล
ผู้เขียนมีความเชื่อว่า บุคคลใดซึ่งมีความคิดที่จะพัฒนาตนเองอย่างสม่ำเสมอก็น่าจะมีชีวิตที่สดใสในอนาคต และผู้เขียนหวังว่าคนไทยคงจะช่วยกันจรรโลงศาสนาพุทธให้สมกับเป็นพุทธศาสนิกชนที่ดี
มติชน 9 ตุลาคม 2555 โดย ธีระพร วีระถาวร
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น