พิกัดวัดสายมูในเชียงใหม่ ที่ไปไหว้แล้วจะปังในทุกๆ เรื่อง

เรื่องของความเชื่อและความศรัทธาอยู่คู่กับคนไทยมายาวนานจนไม่เคยแยกออกจากกัน โดยเข้ามามีบทบาทในการตัดสินใจเรื่องต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน ตั้งแต่ลืมตาตื่นจนกลับไปเข้านอนอีกรอบ ทั้งการใส่เสื้อผ้าสีมงคล การถือฤกษ์งามยามดี เบอร์โทรศัพท์เลขมงคล การไหว้พระขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์ การเข้าวัดทำบุญ ไสยศาสตร์ เครื่องรางของขลัง รวมไปถึงการดูดวงชะตา เราจะเห็นว่าผู้คนทุกเพศทุกวัยต่างก็มีความเชื่อและความศรัทธาในเรื่องใดเรื่องหนึ่งเป็นอย่างน้อย จนกลายเป็นการพยายามเสาะแสวงหาที่พึ่งทางใจ การกราบไหว้บนบานต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์เพื่อขอพรให้สมปรารถนา และเรียกตัวเองว่าเป็น “สายมู”

พลังศรัทธาของผู้คนที่พยายามตระเวนและเสาะแสวงหาเดินทางไปยังสถานที่ต่าง ๆ ที่ได้ชื่อว่า “ศักดิ์สิทธิ์” ทำให้ในพื้นที่นั้น ๆ กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีผู้คนหลั่งไหลไปเยี่ยมชม เกิดเป็นกระแสในการเดินทาง ไม่เพียงแต่คนไทยเท่านั้น เพราะนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่มีความเชื่อในเรื่องลักษณะเดียวกันก็พากันเดินทางเข้ามาเที่ยวในประเทศไทยเพื่อไปเยือนสถานที่ท่องเที่ยวสายมูดังกล่าว

จากความเชื่อ ความศรัทธาของคนไทย ไม่ว่าจะเป็นความชื่นชอบศาสตร์เร้นลับ การดูดวง ความเชื่อเรื่องการบนบานศาลกล่าว การทำบุญ การไหว้พระขอพร บูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ธุรกิจเครื่องรางของขลัง หรือปฏิบัติตามเคล็ดลับสารพัดวิธีตามที่ได้ยินได้ฟังโดยการบอกต่อ ๆ กันมาเพื่อหวังเสริมดวงชะตาให้ดีขึ้น จริง ๆ สิ่งเหล่านี้มีรากฐานมาแต่โบราณ ทั้งวัฒนธรรม ศิลปะ และโบราณวัตถุ ซึ่งเมื่อนำมาเชื่อมโยงเข้ากับความเชื่อในท้องถิ่น ก็ได้กลายเป็น “ธุรกิจมูเตลู” ในพื้นที่นั้นๆ ที่มาแรงแบบก้าวกระโดดในประเทศไทย

และวันนี้ผมจะพาทุกๆ คนไปพบพิกัดต่างๆ ของวัดสายมู ที่ไปไหว้แล้วจะเฮง จะปังในทุกๆ เรื่อง

เน้นด้านความสำเร็จ

วัดพระธาตุดอยคำ


วัดพระธาตุดอยคำ เป็นวัดสำคัญในจังหวัดเชียงใหม่ อายุเก่าแก่กว่า 1,300 ปี ตั้งอยู่บริเวณดอยคำ ด้านหลังอุทยานหลวงราชพฤกษ์ ห่างจากตัวเมืองประมาณ 10 กิโลเมตร วัดพระธาตุดอยคำมีความสูงจากระดับที่ราบเชียงใหม่ราว 140 เมตร และมีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 465 เมตร วัดพระธาตุดอยคำมีลานชมวิวที่สามารถมองเห็นวิวทิวทัศน์รอบเมืองเชียงใหม่ และยังเป็นที่ประดิษฐานพระเจ้าทันใจซึ่งมีอายุเก่าแก่กว่าห้าร้อยปี

วัดพระธาตุดอยคำสร้างในปี พ.ศ. 1230 รัชสมัยพระนางจามเทวีกษัตริย์แห่งหริภุญชัย โดยพระโอรสทั้ง 2 เป็นผู้สร้าง ประกอบด้วยเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า ศาลาการเปรียญกุฏิสงฆ์ และพระพุทธรูปปูนปั้น เดิมชื่อวัดสุวรรณบรรพต แต่ชาวบ้านเรียกว่า "วัดดอยคำ"



วัดป่าแดด


วัดป่าแดด เดิมมีชื่อว่า วัดดอนแก้ว เนื่องจากมีสภาพพื้นที่เป็นเนินสูงและมีต้นพิกุล (ต้นดอกแก้ว) ขึ้นอยู่เต็มไปหมด และจากคำบอกเล่ากล่าวว่า ในสมัยพญามังรายสถาปนาเวียงกุมกามเป็นเมืองหลวงแห่งแรกของล้านนาในบริเวณที่ราบลุ่ม ริมแม่น้ำปิง (สายเดิม) มีการใช้บริเวณที่ตั้งของวัดดอนแก้วในอดีตเป็นอุโบสถสำหรับให้นักโทษประหารหรือเชลยศึกได้ฟังเทศน์ฟังธรรมเป็นครั้งสุดท้าย ก่อนที่จะถูกประหาร โดยจะอาราธนาพระมหาเถระจากวัดในเวียงกุมกามราชธานีพายเรือข้ามฝั่งแม่น้ำปิงมาเทศน์โปรด

เมื่อเวลาผ่านไปหลายร้อยปี สภาพอุโบสถหลังเดิมผุพังลงจนไม่เหลือ จนได้รับการสร้างใหม่เมื่อ พ.ศ. 2345 ภายหลังเปลี่ยนชื่อมาเป็น "วัดป่าแดด" เนื่องจากบริเวณวัดเป็นป่าทึบ ในยามเย็นจะมีฝูงนกแสด หรือนกแสก ร้องเสียงดังไปทั่ว จนชาวบ้านเรียกขานว่าเป็นป่านกแสด และเรียกเพี้ยนกันต่อมากลายเป็นชื่อวัดป่าแดด สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติระบุว่าตั้งวัดเมื่อ พ.ศ. 2475 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ. 2484




วัดพระธาตุดอยสุเทพ


พ.ศ. 1912 พญากือนาได้นิมนต์พระสุมนเถระมาเผยแผ่พระพุทธศาสนายังเมืองเชียงใหม่ พระสุมนเถระได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุที่ค้นพบ ณ เมืองปางจา (บางขลัง) มาด้วย แต่พญากือนาให้พำนักที่วัดพระยืนก่อน เมื่อสร้างวัดสวนดอก เสร็จใน พ.ศ. 1914 จึงนิมนต์พระสุมนเถระมาจำพรรษาที่วัดสวนดอก พระบรมสารีริกธาตุได้แสดงปาฏิหาริย์แยกเป็น 2 องค์ จึงเชิญพระบรมสารีริกธาตุหนึ่งองค์บรรจุในพระเจดีย์วัดสวนดอก

ส่วนพระบรมสารีริกธาตุอีกองค์ พญากือนากับพระสุมนเถระได้เชิญขึ้นประดิษฐานในสัปคับบนหลังช้างมงคล อธิษฐานเสี่ยงช้างมงคลเพื่อเสี่ยงทายสถานที่ประดิษฐาน ช้างออกจากประตูหัวเวียงแล้วเดินขึ้นดอยสุเทพ ช้างหยุดอยู่ที่แห่งหนึ่ง เพื่อหนุนหยุดพัก พญากือนากับพระสุมนเถระอาราธนาไปต่อ ดอยลูกนั้นได้ชื่อว่าดอยหมากขนุน (ดอยหมากหนุน) ช้างมงคลเดินต่อจนไปถึงที่แห่งหนึ่ง เป็นที่ราบเพียงงาม พญากือนากับพระสุมนเถระคิดจะประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุที่นั่น แต่ช้างมงคลยังเดินต่อไป ที่นั้นได้ชื่อว่าสนามยอดดอยงาม ภายหลังเพี้ยนเป็นสามยอด (คือวัดสามยอดร้าง) พอช้างมงคลไต่ราวดอยเดินมาถึงยอดดอยสุเทพ มันก็ร้องแส่นสะเทือน 3 ครั้ง พร้อมกับทำประทักษิณ 3 รอบ แล้วคุกเข่าอยู่เหนือยอดดอย พญากือนาจึงให้เชิญพระบรมสารีริกธาตุลงจากหลังช้าง ช้างมงคลก็ล้มไป จึงโปรดเกล้าฯ ให้ขุดดินลึก 3 ศอก เอาแท่นหินใหญ่ 7 แท่น มาวางเป็นรูปหีบใหญ่ในหลุม แล้วอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุลงประดิษฐานไว้ จากนั้นถมด้วยหิน แล้วก่อพระเจดีย์สูง 5 วา ครอบบนนั้น ด้วยเหตุนี้จึงห้ามพุทธศาสนิกชนที่ไปนมัสการสวมรองเท้าใน บริเวณพระธาตุ และมิให้สตรีเข้าไปบริเวณนั้น แต่บางตำนานว่าพญากือนาเอาพระบรมสารีริกธาตุบูชาก่อน แล้วบรรจุใน พ.ศ. 1927




ม่อนกุเวร


ความเป็นมาของ "ม่อนกุเวร" นั้น "ท้าวเวสสุวรณองค์ปฐม" ณ แม่กำปอง อ.แม่ออน จ.เชียงใหม่ เทวรูปเคารพท้าวกุเวร เวสสุวรรณองค์ปฐม องค์นี้ มีลักษณะ ปางนั่งท่ามหาราชลีลา ทรงอาภรณ์ พระหัตถ์ขวาทรงคฑาวุธ(กระบอง) สร้างจากนิมิตรของท่านพระอาจารย์ผู้เป็นประธานสร้างธรรมสถานม่อนกุเวรแห่งนี้

"ม่อนกุเวร" เป็นสถานที่ที่รวบรวมสิ่งศักดิ์สิทธิ์มากมาย โดยเฉพาะ "ท้าวเวสสุวรรณ" และยังมีสถานที่สำคัญภายในอีกหลายแห่ง ได้แก่ ศาลเจ้าพระโพธิสัตว์กวนอิม พระอุปคุต ลานมุนีภุชงค์นาคาธิบดี ฯลฯ




เน้นด้านความรักสมหวัง

วัดสวนดอก



วัดสวนดอกสร้างขึ้นในภายในเวียงสวนดอก ซึ่งเป็นเขตพระราชอุทยานในสมัยราชวงศ์มังราย โดยในปี พ.ศ. 1914 (ศักราชนี้ถือตามหนังสือชินกาลมาลีปกรณ์ของพระรัตนปัญญาเถระ) พญากือนา กษัตริย์องค์ที่ 6 แห่ง ราชวงศ์มังราย ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเป็นพระอารามหลวง เพื่อให้เป็นที่จำพรรษาของ "พระสุมนเถระ" ผู้ประดิษฐานพระพุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์ ในแผ่นดินล้านนา และสร้างองค์พระเจดีย์เพื่อประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ 1 ใน 2 องค์ ที่พระสุมนเถระอัญเชิญมาจากสุโขทัย ในปี พ.ศ. 1912 (องค์หนึ่งประดิษฐานอยู่ในพระเจดีย์ในวัดพระธาตุดอยสุเทพราชวรวิหาร)ภาพทางอากาศวัดสวนดอก
พ.ศ. 2429

ในสมัยราชวงศ์มังราย วัดสวนดอกเจริญรุ่งเรืองมาก แต่หลังจากสิ้นราชวงศ์มังราย บ้านเมืองตกอยู่ในอำนาจพม่า ทั้งเกิดจลาจลวุ่นวาย วัดนี้จึงกลายสภาพเป็นวัดร้างไป จนได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่อีกครั้ง ในรัชสมัยพระเจ้ากาวิละแห่งราชวงศ์ทิพย์จักร และได้รับการทำนุบำรุงจากเจ้านายฝ่ายเหนือ และประชาชนเชียงใหม่มาโดยตลอด

วัดสวนดอก ได้รับการบูรณะครั้งสำคัญ 2 ครั้ง ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2450 เจ้าดารารัศมี พระราชชายาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญรวบรวมพระอัฐิ เจ้านครเชียงใหม่และพระประยูรญาติมาประดิษฐานรวมกัน และต่อมาอีกครั้งหนึ่งในปี พ.ศ. 2475 เป็นการบูรณปฏิสังขรณ์องค์พระวิหารโดยครูบาศรีวิชัย นักบุญแห่งล้านนา





วัดโลกโมฬี


ในปี พ.ศ. 1910 พญากือนา ทรงให้ราชบุรุษไปนิมนต์พระมหาเถระเจ้ามาสืบศาสนาในล้านนา แต่พระมหาเถระทรงชราภาพมาก จึงให้พระอนันทะเถระและพระเถระที่เป็นศิษย์อีก 10 รูป มาสืบทอดพระพุทธศาสนาในดินแดนล้านนาซึ่งคณะสงฆ์เหล่านั้นได้จำพรรษาที่วัดโลกโมฬี อันเป็นสถานที่ใช้ในการต้อนรับพระราชอาคันตุกะจากต่างเมือง

ต่อมาในปี พ.ศ. 2070 พญาเมืองเกษเกล้า ได้ถวายบ้านหัวเวียงให้เป็นอารามวัดโมฬี และใน พ.ศ. 2071 ได้ทรงให้สร้างมหาเจดีย์และวิหารโลกโมฬี ต่อมาเมื่อพญาเกษเกล้าถูกลอบปลงพระชนม์ในปี พ.ศ. 2088 เหล่าข้าราชการ ขุนนาง ได้ทำพิธีที่วัดแสนนอก นำพระบรมอัฐิมาบรรจุไว้ที่วัดโลกโมฬีนอกกำแพงเมืองเชียงใหม่ด้านเหนือของพระอาราม ซึ่งเป็นพระอารามหลวงประจำพระองค์ จากนั้นเสนาอำมาตย์จึงได้ทูลเชิญพระนางจิรประภาเทวี พระอัครมเหสี ขึ้นครองราชสมบัติ ขณะนั้นล้านนากำลังอ่อนแอ สมเด็จพระไชยราชาธิราช กษัตริย์อยุธยา จึงยกทัพมาตีล้านนา แต่ด้วยพระนางจิรประภาเทวีได้ถวายเครื่องบรรณาการไปถวายขอเป็นมิตร พร้อมทูลเชิญสมเด็จพระไชยราชาธิราชเสด็จมาทำบุญที่กู่พญาเมืองเกษเกล้า วัดโลกโมฬี





ศาลพระพิฆเนศ อาเขต เชียงใหม่


องค์พระพิฆเนศ เป็นเทพแห่งศิลปะและเป็นเทพแห่งความสำเร็จ จึงเป็นที่เคารพสักการะของประชาชนโดยทั่วไป สำหรับเทวสถานแห่งนี้ มิได้มีเพียงองค์พระพิฆเนศเท่านั้นนะคะ หากแต่ยังมีองค์พระตรีมูรติ ครูกายแก้ว พระราหู พระพรหม เทพทันใจพม่า ฯลฯ เป็นเทวสถานที่ศักดิ์สิทธิ์มาก ๆ จะมีการบวงสรวงเทพตามพิธีกรรม

ก่อนหน้าที่จะเป็นศาลพระพิฆเนศ เดิมเป็นร้านค้าขายอาหารตามสั่ง ร้านฝากรถมอเตอร์ไซค์ ซึ่งสภาพมันก็ค่อนข้างที่จะเสื่อมโทรม และไม่ค่อยน่าดูเท่าไร แต่พอมาทำเป็นศาลพระพิฆเนศ ก็จะเห็นได้ว่ามันมีความเปลี่ยนแปลงจากหลังเท้าเป็นหน้ามือ น่าดู น่าอยู่มากขึ้น ดูสะอาดสะอ้าน ปลอดโปร่ง โล่งสบายตา

ที่มาของการพัฒนาพื้นที่ดังกล่าวนั้น มาจาก นายวันชัย ดุลยธรรมภักดี หรือ ”เจ้าสัววันชัย” นักธุรกิจชื่อดังของอาเขตเชียงใหม่ มีความเชื่อว่า “พระพิฆเนศ” ถือเป็นเทพที่มีผู้คนเคารพนับถือมายาวนาน เชื่อกันว่าเป็นเทพเจ้าแห่งความสำเร็จ ความรู้ และปัญญาอันเป็นเลิศ นอกจากนี้พระพิฆเนศ ยังถือเป็นเทพทางศิลปวิทยาต่างๆ ดังนั้นจึงมักจะได้เห็นคนที่ทำงานเกี่ยวกับศิลปะ หรือคนที่ต้องการมีชื่อเสียง นิยมกราบไหว้บูชาพระพิฆเนศกันอยู่เสมอ และด้วยเหตุนี้ จึงได้สร้างศาลพระพิฆเนศขึ้นมา

โดยหลังจากสร้างศาลพระพิฆเนศ พร้อมเทพองค์ต่างๆ ณ บริเวณอาเขตเชียงใหม่เสร็จ ได้จัดพิธีบวงสรวงขึ้น โดยมีอาจารย์ลักษณ์ ฟันธง ร่วมกับอาจารย์หน่อย เข้าประกอบพิธีการอย่างครบถ้วน พร้อมทั้งมีการแจกเหรียญพระพิฆเนศปางเจ้าสัวรุ่นเปิดศาลแก่ผู้ที่มาร่วมพิธีในครั้งนั้นด้วย





เน้นด้านโชคลาภ เงินทอง 
และความเป็นสิริมงคล

วัดดวงดี


วัดดวงดีถูกสร้างขึ้นภายหลังจากพระเจ้ามังรายได้สร้างเมืองเชียงใหม่ระยะเวลาหนึ่ง ซึ่งไม่ปรากฏหลักฐานชัดว่าเป็นผู้ใดสร้าง ตามความเชื่อนิยมของคนในสมัยบรรพกาลที่มักสร้างวัดไว้ประจำตระกูล เพื่อเป็นพุทธบูชาหรือเพื่อเป็นการไถ่บาปสำหรับเหล่าทหารชั้นผู้ใหญ่ที่ออกไปทำศึกแล้วเข่นฆ่าผู้คนไปเป็นจำนวนมาก.

สำหรับวัดดวงดีนั้นแรกเริ่มเดิมทีมีหลายชื่อ เช่น วัดหมากต้นเหนือ, วัดอุดมดี, วัดพนมดี และวัดดวงดีตามลำดับ จากการเล่าขานของคนดั้งเดิมกล่าวไว้ว่า วัดดวงดีนี้เคยใช้เป็นสำนักเรียนสำหรับลูกเจ้าขุนมูลนายในสมัยแต่ก่อน และยังถูกเคยใช้เป็นสถานที่เรียนของนักเรียนยุพราชวิทยาลัยก่อนที่จะมีการก่อตั้ง ก่อสร้างแล้วเสร็จอีกด้วย





วัดลอยเคราะห์


วัดลอยเคราะห์ เดิมชื่อว่า วัดร้อยข้อ (วัดฮ้อยข้อ) สร้างขึ้นประมาณปี พ.ศ. 1910 ในสมัยพญากือนา กษัตริย์องค์ที่ 6 แห่งราชวงศ์มังราย ช่วงปลายรัชสมัยพม่ายกทัพมาตีล้านนา และยึดครองล้านนาได้สำเร็จ วัดต่าง ๆ ในเชียงใหม่จึงถูกทิ้งร้างไป 

ต่อมาพระเจ้ากาวิละยกทัพไปตีเมืองเชียงแสนที่ยังคงอยู่ใต้การปกครองของพม่าได้สำเร็จ จึงได้กวาดต้อนชาวเชียงแสนมาอยู่ในเมืองเชียงใหม่ ชาวเชียงแสนได้บูรณปฏิสังขรณ์วัดร้อยข้อขึ้นมาใหม่ และนำชื่อวัดในเมืองเชียงแสนมาตั้งเป็นชื่อใหม่ว่า "วัดลอยเคราะห์" ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ. 2040 วัดได้รับการบูรณะระหว่าง พ.ศ. 2550–2551 ซึ่งเป็นการบูรณะที่ยังคงรักษารูปแบบเดิมที่สร้างมาตั้งแต่ พ.ศ. 2408

วิหารของวัดตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของวัด เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนสถาปัตยกรรมล้านนา ได้รับการบูรณะครั้งใหญ่เมื่อ พ.ศ. 2545 หน้าบันประดับด้วยลายปูนปั้นพระพุทธรูปปางสมาธิ สัตว์ในวรรณคดี และลายพรรณพฤกษา ประตูเป็นลวดลายรดน้ำรูปเทพนม และตัวปั้นลมหรือนาคสะดุ้งด้านหลัง ที่ทำลวดลายด้วยการติดกระจกสีต่างๆ ภายในประดิษฐาน พระพุทธศุภโชคศรีลอยเคราะห์มิ่งมงคล





วัดหมื่นล้าน



วัดหมื่นล้าน สร้างเมื่อช่วงปี พ.ศ. 2002–2005 ในรัชสมัยของพระเจ้าติโลกราช ผู้สร้างวัดคือ หมื่นโลกสามล้านขุนพลแก้ว สร้างขึ้นเพื่ออุทิศแก่แม่ทัพของอยุธยา ที่พ่ายในการทำสงครามจนต้องเสียชีวิตในสนามรบ และอุทิศส่วนบุญส่วนกุศล ให้แก่บรรดาแม่ทัพนายกกองของล้านนา โดยได้หาสถานที่สร้างวัดบริเวณภายในกำแพงเมืองเบื้องบูรพาทิศ ห่างจากประตูเมืองไปยังใจกลางเมือง 100 ขาธนู (1 ขาธนูเท่ากับ 1 วา) คือประมาณ 100 วา ในปีมะเส็ง จ.ศ. 822 ตรงกับ พ.ศ. 2002 มีบันทึกว่า คหบดี นามว่า หลวงโยนะการพิจิตร (ต้นตระกูล อุปะโยคิน) ได้สละทุนทรัพย์สร้างขึ้นมาทดแทนของเดิมที่เสียหาย ช่วงปี จ.ศ.1279

สิ่งสำคัญของวัดคือ เจดีย์และลวดลายหน้าบันของวิหาร ศิลปะแบบพม่า มีพระพุทธรูปปางมารวิชัย วัชราสน์ (ขัดสมาธิเพชร) สร้างปี พ.ศ. 2460 ในสมัยพลตรีเจ้าแก้วนวรัฐ

ปี พ.ศ. 2563 วัดหมื่นล้าน ทำการบูรณะบานประตูโบราณ ด้วยการทาสีชาด และลงรักบานประตูวิหารปิดทับลายรดน้ำเดิม จนมีการร้องเรียนให้ตรวจสอบ ทางผู้เชี่ยวชาญพบว่า สามารถลอกสีที่ทาทับได้ และพบลายรดน้ำบนบานประตูยังอยู่ ส่วนลายฉลุทองประดับผนังหลังองค์พระประธานนั้น ทางวัดได้ทำการสกัดถอดออกจากผนังจนเสียหายทั้งหมด จึงไม่สามารถซ่อมแซม หรือ ฟื้นคืนสภาพได้แล้ว




วัดพันเตา


ตำนานนิทานปฐมเหตุการตั้งเมืองเชียงใหม่ สมัยลัวะปกครองเล่าว่า “เศรษฐีผู้หนึ่งหื้ออยู่กลางเวียง ทั้ง 5 คนนี้มีชื่อว่า เศรษฐีพันเท้า เขาก็ได้ตั้งคุ้มอยู่ตามคำเจ้าระสีแล” ดังนั้นจึงสันนิษฐานว่าแต่เดิมวัดพันเตาเป็นบริเวณบ้านของเศรษฐีคนดังกล่าว ต่อมาพระเจ้าแสนเมืองมาจึงได้ตั้งชื่อว่าวัดพันเตา ออกเสียงเป็นภาษาล้านนาว่า “ปันเต้า” ขณะที่อีกตำนานหนึ่งของวัดพันเตาซึ่งพระครูสุวรรณสารพิศิษฐ์ เจ้าอาวาสวัดศรีบุญโตช่างฆ้อง กล่าวว่า “เดิมเป็นสถานที่ตั้งเส้าจำนวนพันเตาหลองทองหล่อพระพุทธรูปอัฎฐารส ซึ่งประดิษฐานในวิหารวัดเจดีย์หลวง เมื่อทำการหล่อพระเสร็จแล้ว ชาวเมืองจึงสร้างวัดขึ้นในบริเวณนั้นเรียกว่า “วัดพันเตา”




วัดศรีสุพรรณ

วัดศรีสุพรรณสร้างเมื่อ พ.ศ. 2043 ในสมัยของพญาแก้ว ราชวงศ์มังราย พระนางสิริยสวดี พระราชมารดามหาเทวีเจ้า โปรดเกล้าฯ ให้มหาอำมาตย์ชื่อเจ้าหมื่นหลวงจ่าคำ สร้างวัดชื่อว่า วัดศรีสุพรรณอาราม ต่อมาเรียกสั้น ๆ ว่า "วัดศรีสุพรรณ" และทำการผูกพัทธสีมาอุโบสถเมื่อ พ.ศ. 2052 และสร้างวิหาร พระบรมธาตุเจดีย์ อุโบสถ และนำพระพุทธปาฏิหาริย์ (ชื่อเดิมคือ พระเจ้าเจ็ดตื้อ) มาประดิษฐานในอุโบสถ วัดได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ. 2400

อุโบสถเงินของวัดถือว่าเป็นแห่งเดียวในโลก วัสดุที่ใช้คืออะลูมิเนียม เป็นเงินผสมและใช้เงินบริสุทธิ์บางแห่ง บุและตกแต่งตั้งแต่หลังคา ผนังภายในและภายนอกทั้งหลัง ช่างที่ดำเนินการสร้างอุโบสถเงิน เฉพาะการใช้ อะลูมิเนียม เงินผสมและเงินบริสุทธิ์ สำหรับตกแต่ง อุโบสถเริ่มสร้างเมื่อ พ.ศ. 2547 สืบเนื่องจากอุโบสถหลังเดิมชำรุดและคณะศรัทธาวัดศรีสุพรรณ ซึ่งได้สืบทอดอาชีพการทำเครื่องเงิน (คัวเงิน) และเพื่อเป็นการส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่นดั้งเดิมจากบรรพบุรุษของตนมามากกว่า 200 ปี อุโบสถเงินมีการสลักลวดลายตามแนวประเพณีล้านนา วัดมีกฎห้ามสตรีเข้าไปภายในอุโบสถเงินโดยเด็ดขาด





เน้นทางด้านค้าขาย กำไรดี

วัดหมื่นเงินกอง


วัดหมื่นเงินกอง โดยสร้างขึ้นในรัชสมัยราชวงค์มังราย พระเจ้ากือนา เมื่อประมาณปี จ.ศ.761-735 (พ.ศ. 1882-1916) ซึ่งชื่อของวัดคำว่า หมื่นเงินกอง ก็เป็นชื่อของมหาอำมาตย์ตำแหน่งขุนคลัง ท่านหนึ่งในรัชกาลพระเจ้ากือนา โดยโปรดให้ไปอาราธนาพระสุมนเถระชาวเมืองสุโขทัย มาเผยแพร่พระพุทธศาสนาในนครพิงค์ เมื่อปี พ.ศ. 1913

มหาอำมาตย์หมื่นเงินกอง หรือ ทิดเมธัง ผู้สร้างวัดเมธัง และ วัดช่างลาน เป็นผู้สร้าง วัดหมื่นเงินกอง นี้ขึ้นมา ทั้งนี้ก็เพื่อเป็นอนุสรณ์ยศถาบรรดาศักดิ์ที่ตนเองได้รับ ต่อมาชาวบ้านทั่วไปก็เรียกวัดนี้กันว่า วัดมะยมกอง แต่ก็มีชื่อที่รู้จักกันทั่วไปว่า วัดหมื่นเงินกอง จนมาถึงทุกวันนี้






เน้นทางด้านสุขภาพแข็งแรง

วัดเชียงมั่น


วัดเชียงมั่น มีพระเสตังคมณี (พระแก้วขาว) และพระศิลาซึ่งเป็นพระพุทธรูปปางปราบช้างนาฬาคีรี ประดิษฐานอยู่ในพระวิหาร

มีประวัติศาสตร์อันยาวนาน ปรากฏในตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ และพงศาวดารโยนก หลังจากที่พญางำเมือง พญาร่วง และพญามังรายทรงสร้างเมืองเชียงใหม่ในปี พ.ศ. 1839 ทั้ง 3 พระองค์โปรดให้สร้างเจดีย์ และพญามังรายทรงประทับชั่วคราวในระหว่างควบคุมการสร้างเมือง ตรงหอนอนบ้านเชียงมั่น เรียกว่า "เวียงแก้ว" ทรงอุทิศตำหนักคุ้มหลวงเวียงเหล็ก ตั้งเป็นพระอารามหลวงแห่งแรกและพระราชทานนามว่า "วัดเชียงมั่น" จากนั้นคาดว่าเจดีย์พังลงมาในสมัยพระเจ้าติโลกราช (ครองราชย์ พ.ศ. 1985 - 2031) พระองค์จึงโปรดให้สร้างเจดีย์ใหม่ ทำด้วยศิลาแลง เมื่อปี พ.ศ. 2014

เมื่อเชียงใหม่ตกเป็นเมืองขึ้นของพม่า ในปี พ.ศ. 2094 วัดเชียงมั่นจึงถูกปล่อยร้าง จนปี พ.ศ. 2101 เจ้าฟ้ามังทรา (สมเด็จพระมหาธัมมิกะราชาธิราช) แห่งพม่า บูรณปฏิสังขรณ์วัดเชียงมั่นขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง โดยโปรดให้สร้างเจดีย์ วิหาร อุโบสถ หอไตร ธัมมเสนาสนะกำแพง และประตูโขง มีพระมหาหินทาทิจจวังสะเป็นเจ้าอาวาสเมื่อถึงสมัยพระยากาวิละครองเมือง เชียงใหม่ (พ.ศ. 2324–2358)

ต่อมาพระพุทธศาสนาแบบธรรมยุกนิกายเผยแผ่เข้ามาในอาณาจักรล้านนา เจ้าอินทวโรรสสุริยวงษ์จึงนิมนต์พระธรรมยุตมาจำพรรษาอยู่ แต่ได้ย้ายไปอยู่วัดหอธรรมและวัดเจดีย์หลวงตามลำดับในภายหลัง





วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร


พระสิงห์วรมหาวิหาร พระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดวรมหาวิหาร ตั้งอยู่ในบริเวณคูเมืองเชียงใหม่ วัดพระสิงห์ฯ เป็นวัดสำคัญวัดหนึ่งของเมืองเชียงใหม่ เป็นประดิษฐานพระสิงห์ (พระพุทธสิหิงค์) พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่เมืองเชียงใหม่และแผ่นดินล้านนา พระพุทธรูปเป็นศิลปะเชียงแสนรู้จักกันในชื่อ "เชียงแสนสิงห์หนึ่ง"

พญาผายู กษัตริย์เชียงใหม่ราชวงศ์มังราย โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 1888 ขั้นแรกให้ก่อสร้างเจดีย์สูง 23 วา เพื่อบรรจุพระอัฐิของพญาคำฟู พระราชบิดา ต่อมาอีก 2 ปี จึงได้สร้างพระอาราม เสนาสนวิหาร ศาลาการเปรียญ หอไตร และกุฏิสงฆ์ เมื่อเสร็จเรียบร้อย ทรงตั้งชื่อว่า "วัดลีเชียงพระ" สมัยพญาแสนเมืองมาขึ้นครองเวียงเชียงใหม่ โปรดให้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์มาจากเมืองเชียงราย มาประดิษฐาน

ในวันที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2483 วัดพระสิงห์ได้รับพระกรุณาโปรดให้ยกเป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดวรมหาวิหาร


..............................................................................................................

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

การวาดภาพทิวทัศน์ (Landscape)

มารู้จักภาพทัศนียภาพ - Perspective

การวาดภาพทิวทัศน์แบบง่ายๆ ที่ใครๆ ก็สามารถวาดได้