“ผิดหรือไม่ที่เด็กๆ จะวาดแต่ภาพการ์ตูน”


“ผิดหรือไม่ที่เด็กๆ จะวาดแต่ภาพการ์ตูน”
โดย อาจารย์อรอนงค์ ฤทธิ์ฤาชัย

มีโอกาสได้อ่านบทความทางวิชาการของ อาจารย์อรอนงค์ ฤทธิ์ฤาชัย ซึ่งตรงกับประเด็นที่ผมคิดไว้พอดี ก็เลยขออนุญาตนำบทความนี้มาแบ่งปันกันครับ นับว่าเป็นประโยชน์ต่อตัวเด็กๆ และผู้ปกครองเป็นอย่างมากเลยทีเดียวครับ

มีผู้ใหญ่หลายคนที่เข้าใจว่าเด็กไม่ควรวาดภาพการ์ตูน เพราะจะเป็นผลเสียต่อเด็กในแง่ของการบั่นทอนความคิดสร้างสรรค์ เด็กจะไม่สามารถวาดภาพอย่างอื่นได้เลย เพราะจะวาดแต่ตัวการ์ตูนที่ชอบและประทับใจเท่านั้น ในความเป็นจริงแล้วที่เด็กเป็นแบบนี้เพราะวัย วุฒิภาวะ ของตัวเด็กเอง ไม่ใช่สิ่งผิดแปลกอะไรเลย ถ้าเราจะปล่อยให้เด็กได้ทำในสิ่งที่เขาชอบและมีความสุข



โดยส่วนตัวแล้วมีความชอบในการวาดภาพการ์ตูนมาตั้งแต่เด็กๆ โดยจะเลือกวาดการ์ตูนที่มีความประทับใจ วาดใส่กระดาษ ใส่สมุดวาดเขียนบ้าง วาดส่งประกวดบ้าง เสาร์-อาทิตย์ หรือเมื่อมีเวลาว่างก็จะมีใจจดจ่ออยู่กับการวาดภาพการ์ตูน ในขณะที่วาดภาพรู้สึกว่าตัวเองมีความสุข ได้ผ่อนคลายความตึงเครียด มีสมาธิ เมื่ออยู่ในห้องเรียนครูให้วาดภาพใดก็จะรู้สึกว่าง่าย ทั้งนี้น่าจะเป็นผลจากการที่ตัวเราได้ฝึกฝนด้วยตนเองมาก่อน จึงมีความใฝ่ฝันอยากเป็นจิตรกรหรือนักวาดภาพ แต่เนื่องจากผู้ปกครองไม่เห็นด้วยเพราะเกรงว่าเรียนไปจะไม่มีงานทำ จึงทำให้การเรียนในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายที่จะต้องมีการเลือกวิชาพื้นฐานที่สนใจเพื่อจะใช้ในการศึกษาต่อนั้น ก็กลับไปเลือกพื้นฐานเกษตรแทน ซึ่งก็ไปคนละทิศทาง แต่เหตุผลที่เลือกเพราะตามใจผู้ปกครอง และเพื่อนส่วนใหญ่ก็จะเลือกเรียนพื้นฐานเกษตรสำหรับคนที่เรียนทางด้านสายวิทย์ ณ เวลานั้นก็ไม่ได้คิดอะไรมาก คิดแต่เพียงว่าเด็กเก่งๆ ก็เรียนกัน จนกระทั่งได้สอบเข้าเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัย จึงตัดสินใจว่าอยากเรียนอะไรที่ตนเองชอบมากกว่า ในใจจึงมีความคิดว่าทำอย่างไรก็ได้ขอให้ตนเองได้เรียนศิลปะ จะเป็นคณะ-สาขาวิชาใดก็ยอม เมื่อพิจารณาจากพื้นความรู้ของตนเองแล้ว ไม่ได้เรียนพื้นฐานวิชาใดมาเลย นอกจากความชอบในการวาดภาพเท่านั้น จึงตัดสินใจเลือกสอบคณะที่เกี่ยวกับศิลปะเพียงหนึ่งแห่ง ซึ่งไม่ได้สอบวิชาพื้นฐานที่เน้นในเรื่องของฝีมือทางศิลปะ แต่เป็นวิชาทางด้านศิลปศึกษา ซึ่งน่าจะพอหาหนังสือมาอ่านได้ บวกกับความตั้งใจจริงของตนเองที่มีอยู่ค่อนข้างมากจึงทำให้สอบติดได้เรียนอย่างที่ตนเองต้องการ 

พอเข้าไปเรียน อาจารย์ได้จัดหุ่นนิ่ง (still-life) ให้วาดในวิชาวาดเส้น จากที่ไม่เคยมีพื้นความรู้มาก่อนแต่กลับฝึกฝนจนสามารถเขียนได้ จึงตั้งข้อสังเกตว่าน่าจะเป็นผลมาจากการที่เราได้ฝึกการเขียนภาพการ์ตูนมาก่อนนั่นเอง โดยส่วนตัวจึงไม่เห็นด้วยนักที่ครูหลายๆ ท่านต่อต้านการวาดภาพการ์ตูนของนักเรียนว่าเป็นสิ่งไม่ดี และไม่ควรทำ ทั้งที่น่าจะให้ประโยชน์กับตัวเด็กๆ มากกว่า การจะสอนให้นักเรียนเกิดความคิดสร้างสรรค์ หรือไม่นั้นอยู่ที่ตัวครูเป็นผู้จัดกิจกรรมมากกว่า กรณีนี้เองจึงเป็นเหตุผลนึงที่มีความสนใจที่จะศึกษาข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับข้อดีและข้อเสียของการวาดภาพลอกเลียนแบบการ์ตูนของเด็ก



การให้ความสำคัญกับวัยเด็กเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง จากการศึกษาค้นคว้าของนักการศึกษาพบว่า ความสำเร็จในชีวิตมนุษย์ ตลอดจนความแตกต่างทางด้านบุคลิกลักษณะในวัยผู้ใหญ่ ล้วนมีรากฐานที่ได้รับจากวัยเด็กที่มีพัฒนาการการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในแต่ละวัย หรือในแต่ละบุคคลแตกต่างกันออกไป ดังนั้นการจัดกิจกรรมสำหรับเด็กจึงจำเป็นอย่างยิ่ง ที่จะต้องคำนึงถึงความสอดคล้องกับวัยและความต้องการของเด็ก

ศิลปศึกษา เป็นวิชาหนึ่งที่สามารถตอบสนองความต้องการของเด็กๆ ในแต่ละด้านได้เป็นอย่างดี สามารถส่งเสริมสติปัญญา และความคิดสร้างสรรค์แก่เด็กๆ โดยไม่สิ้นเปลืองเวลา หรือค่าใช้จ่ายมากนัก หากครูอาจารย์ และผู้ปกครองทำความเข้าใจกับธรรมชาติของกิจกรรมศิลปะเด็ก รวมทั้งเปิดโอกาสให้เด็กได้แสดงออกตามความต้องการของเขา ก็จะเป็นการช่วยส่งเสริมพัฒนาการด้านต่างๆ ของเด็กให้เจริญงอกงามยิ่งขึ้น

การศึกษาด้านศิลปะ มุ่งเน้นให้เด็กแสดงออกอย่างอิสระ แต่ความจริงแล้วช่วงชีวิตของเด็กที่ทำงานศิลปะนั้นส่อแสดงให้เห็นว่า ได้รับอิทธิพลที่มีมาก่อน หรือการทำตามเพื่อนเด็กด้วยกัน หรือมิฉะนั้นก็ทำตามศิลปินที่มีชื่อเสียง จากคำกล่าวที่ว่า “ดวงตาที่ไร้เดียงสากับมือที่บริสุทธิ์” นั้น มะลิฉัตร เอื้ออนันท์ (2532) ได้อ้างถึงงานวิจัยหลายชิ้น เช่น งานวิจัยของโรเซนไทล์และการ์ดเนอร์ ( Rosentiel and Gardner,1977) วิลสันและวิลสัน (Wilson and Wilson,1977) บาร์เร็ตและไร้ท์ (Barrett and Light,1976)และโกลอมบ์ (Golomb,1974) สรุปว่า ระยะที่เด็กมีดวงตาที่ไร้เดียงสาและมือที่บริสุทธิ์นั้นมีอยู่จริง แต่มีอยู่เพียงระยะเวลาสั้นๆ คือ ระหว่างอายุประมาณ 2-8 ปี หรือ หลังจากนั้นเพียงเล็กน้อย หลังจาก อายุ 8-10 ปี สิ่งที่เรียกว่าดวงตาที่ไร้เดียงสา และมือที่บริสุทธิ์นั้นจะถูกสิ่งแวดล้อมเข้ามามีอิทธิพลปรับเปลี่ยน รวมทั้งส่วนสำคัญที่สุดนั้นก็มาจากพัฒนาการด้านระบบสมองของเด็กเอง ซึ่งพัฒนาเปลี่ยนแปลงไปตามวัย ตามสิ่งแวดล้อม โอกาส และจังหวะที่ผู้ใหญ่จะส่งเสริมผลักดัน ถ้าเด็กได้รับอิทธิพลทางเทคโนโลยีสมัยใหม่ อาทิเช่น ได้ดูโทรทัศน์บ่อยๆ เล่นเกมคอมพิวเตอร์ ก็เป็นธรรมดาที่เด็กจะรู้จักหุ่นยนต์กายสิทธิ์ทั้งหลาย จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่เด็กจะชอบการ์ตูน และติดใจในบทบาทของตัวการ์ตูน (เจนภพ จบกระบวนวรรณ,2525) จนทำให้เด็กเกิดจินตนาการสร้างภาพตัวการ์ตูนดังกล่าวออกมาในภาพวาดของเขา


ในปัจจุบันหนังสือการ์ตูน และภาพยนตร์การ์ตูนทางโทรทัศน์เป็นสื่อที่ได้รับความนิยมจากเด็กๆ มาก เพราะสามารถให้ความบันเทิง ความสนุกสนานเพลิดเพลิน ความตื่นเต้น ความรู้ ความคิด ประสบการณ์แวดล้อมต่างถิ่น หรือต่างวัฒนธรรม และความเจริญที่ทันสมัย เด็กในปัจจุบันจึงใช้เวลาส่วนใหญ่ดูโทรทัศน์ และอ่านหนังสือการ์ตูน (เพชรชมพู เทพพิพิธ,2532) 

การ์ตูนที่ได้รับความนิยมมักจะมีผู้นำแบบไปผลิตสินค้า โดยทำเป็นสิ่งของเครื่องใช้ เช่น กระเป๋า แก้วน้ำ ดินสอ กล่องเครื่องเขียน ฯลฯ จำหน่ายให้แก่เด็กๆ จะเห็นว่ารูปแบบของหนังสือการ์ตูนเป็นจุดเด่นที่ทำให้เด็กสนใจ โดยเฉพาะการสื่อความหมายด้วยภาพ แม้แต่เด็กที่ยังอ่านหนังสือไม่ออก ก็สามารถลำดับเรื่องได้จากภาพ จากจุดนี้เองทำให้เกิดวรรณกรรมประเภทการ์ตูนมากมาย โดยมีการสร้างเรื่องด้วยภาพประกอบที่สนุกสนานจากภาพยนตร์ โดยเฉพาะภาพยนตร์การ์ตูนญี่ปุ่นที่นิยมให้บทบาทของตัวเอกเป็นนินจา ซามูไร แม่มด หรือผู้มีพลังพิเศษ เด็กที่อ่านหนังสือการ์ตูนมักมีความรู้สึกว่าตัวเองเป็นตัวเอกของเรื่อง เป็นผู้มีความสามารถในการต่อสู้อุปสรรค ความบีบคั้นต่างๆ รวมทั้งความอยุติธรรมของมนุษย์ เด็กจะรับเอาแบบอย่างจากตัวเอกในการ์ตูนมาปฏิบัติตาม เพื่อว่าจะได้ประสบความสำเร็จ และมีชื่อเสียงบ้าง เด็กจะเกิดอารมณ์ร่วมไปกับตัวเอกที่กำลังผจญภัย ทำให้เด็กมีความรู้สึกตื่นเต้นไปด้วย ในการ์ตูนที่มีเนื้อเรื่องตลกหรือความรัก เพ้อฝัน ก็จะช่วยผ่อนคลายให้เด็กเกิดจินตนาการเปลี่ยนจากความเป็นจริงในชีวิต ช่วยให้ชีวิตสดใสสามารถเรียนหรือทำงานได้มีประสิทธิภาพดีขึ้น ด้วยเหตุผลดังกล่าวเด็กจึงมีความสนใจในการอ่านหนังสือการ์ตูน

เด็กส่วนใหญ่จะเล่นเลียนแบบจากรายการโทรทัศน์ ซึ่งอาจเลียนแบบตัวเอกของเรื่อง หรือเลียนแบบการใช้อุปกรณ์ประกอบท่าทาง เพราะเด็กมีความพร้อมในการเลียนแบบพฤติกรรมของพ่อแม่ และบุคคลที่เด็กสนใจ ดังนั้นตัวการ์ตูนที่เด็กสนใจจึงมีผลต่อการเลียนแบบของเด็ก

วิบูลย์ ลี้สุวรรณ กล่าวว่า เด็กชอบเลียนแบบสิ่งที่ได้พบเห็นมา โดยการวาดภาพไปตามความจำ และจินตนาการ เพื่อบอกกล่าวเรื่องราวที่ผ่านเข้ามาในความรู้สึกนึกคิด หรือถ่ายทอดความรู้สึกภายในออกมาในรูปธรรมให้ผู้อื่นได้เห็นได้เข้าใจ ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยของ โกศล ภูพลอย ที่ได้ตั้งข้อสังเกตจากการค้นพบในงานวิจัยว่า ภาพคนที่นักเรียนชายวาดจะมีลักษณะคล้ายภาพการ์ตูนในหนังสือและภาพยนตร์โทรทัศน์ ส่วนภาพคนที่นักเรียนหญิงวาดนั้นจะมีลักษณะสัดส่วน หน้าตา แขนขา เสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย และเครื่องประดับ คล้ายตุ๊กตาของเล่น และคล้ายการ์ตูนจากภาพยนตร์โทรทัศน์ สรุปได้ว่าลักษณะ ภาพคนที่นักเรียนส่วนมากวาดจึงเป็นการเลียนแบบการ์ตูนมากกว่าวาดจากแนวคิด และจินตนาการของตนเอง

จรุณห์ เพชรมุนี และหทัย ตันหยง กล่าวถึงผลของการ์ตูนที่มีต่อเด็ก คือ เป็นสิ่งเร้าใจให้เด็กเกิดความสนใจในการวาดภาพและมีจินตนาการ เด็กๆ มักชอบวาดภาพการ์ตูน ซึ่งเด็กชายจะชอบวาดมากกว่าเด็กหญิง สำหรับเด็กหญิงมักจะนำเอาภาพวาดการ์ตูนที่ตนพอใจไปประกอบสิ่งต่างๆ ที่เขาสนใจ ทำให้เกิดความพึงพอใจในสิ่งนั้น และเป็นการสร้างสรรค์ที่ทำให้เขามีความสุข จะเห็นว่าลักษณะภาพวาดของเด็กโดยทั่วไปก็มีลักษณะเป็นแบบการ์ตูนนั่นเอง


เด็กอายุ 9-12 ปี ซึ่งอยู่ในขั้นพัฒนาการการวาดภาพแบบเหมือนจริงนั้น บางครั้งภาพวาดของเด็ก ก็ไม่เป็นไปตามสิ่งที่เด็กมองเห็นได้ ทั้งนี้เนื่องจากเด็กมีประสบการณ์กับโลกภายนอกเพิ่มขึ้น และ เนื่องจากการพัฒนาสมองซีกซ้าย และระบบรู้คิด (Cognitive Development) ซึ่งมีผลเกี่ยวโยงไปถึงความสามารถของเด็กในการใช้เหตุผล หรือวิเคราะห์ วิพากษ์วิจารณ์ เด็กเริ่มสามารถตัดสินหรือเปรียบเทียบระหว่างความสวยหรือไม่สวย เหมือนหรือไม่เหมือน ถูกหรือผิด ด้วยเหตุนี้ เด็กเริ่มลังเลกลัวผิด เมื่อเด็กพบว่าตนไม่สามารถแก้ปัญหาในการวาดรูป หรือปั้นได้ตามที่ตนต้องการ หรือทำให้ดูดีเหมือนของผู้ใหญ่ เด็กจะเริ่มมองหาหนทางในการแก้ปัญหา แต่ถ้าในระบบการเรียนการสอนนั้นไม่สนับสนุนให้อิทธิพลการแสดงออกของผู้ใหญ่เข้าไปมีบทบาทรบกวน “ความคิดสร้างสรรค์” ของเด็ก เด็กส่วนหนึ่งอาจเรียนที่จะแก้ปัญหาด้วยตนเอง โดยอาศัยการเลียนแบบผลงานศิลปะของผู้ใหญ่ เช่น วาดโดยดูแบบจากรูปการ์ตูน ภาพประกอบหนังสือ บัตรอวยพร ฯลฯ หรือ มิฉะนั้นเด็กส่วนหนึ่งก็จะเลิกสนใจที่จะทำงานศิลปะต่อไป (มะลิฉัตร เอื้ออนันท์,2535) 

นักวิจัยที่ศึกษาเกี่ยวกับเด็กปัญญาเลิศทางด้านศิลปะบางคนรายงานว่า เด็กที่มีพรสวรรค์ปัญญาเลิศทางศิลปะนั้นมีประวัติการวาดภาพเลียนแบบสื่อหรือภาพประกอบที่เป็นที่นิยม เด็กที่ทำงานในลักษณะนี้ จะมีความสามารถในการเสนอแนวความคิดของตนเองให้ปรากฏในผลงานศิลปะ ได้อย่างก้าวหน้าเกินวัย เช่น สามารถถ่ายทอดในลักษณะกินตา (Forshorttening) แสดงทัศนียภาพวิทยา (Perspective) และสามารถวาดภาพแสดงอาการเคลื่อนไหว


ภาพลักษณะกินตา (Forshorttening)


ภาพแสดงทัศนียภาพวิทยา (Perspective)


ภาพแสดงลักษณะอาการเคลื่อนไหว

ถ้ามองย้อนไปที่หลักสูตรการศึกษาปี 2438 (วิรุณ ตั้งเจริญ, 2535) จะพบว่าหลักสูตรฉบับนั้นได้บรรจุวิชาศิลปศึกษาไว้เรียบร้อยแล้ว แม้ว่าวิชาศิลปศึกษาในเวลานั้นจะขีดวงแคบไว้เพียงการวาดเขียนก็ตาม จนถึงทุกวันนี้นับเป็นช่วงเวลายาวนานที่ศิลปศึกษาระบบโรงเรียนได้พัฒนาสืบเนื่องกันมา วิรุณ ตั้งเจริญ (2535) กล่าวไว้ว่า ตลอดเวลาที่ผ่านมานั้น อิทธิพลความรู้ความคิดจากซีกโลกตะวันออกและตะวันตก ได้ไหลบ่าเข้ามาผสมผสานกับศิลปะในระบบช่างฝีมือของเราตลอดมา ไม่ว่าจะเป็นอิทธิพลจากยุโรป ญี่ปุ่น หรืออเมริกา ซึ่งกระแสไหลบ่านั้น ก็เป็นไปตามมลภาวะทางการเมืองและสังคมเป็นประการสำคัญ ในปัจจุบันนี้เราก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าได้รับอิทธิพลจากระบบการศึกษาของสหรัฐอเมริกา และวิชาศิลปศึกษาเองก็คงปฏิเสธร่างแหอันนี้ไม่ได้เช่นกัน ส่วนปัญหาที่ว่าเราจะมีจุดยืนหรือฉลาดพอหรือไม่ในการที่จะวิเคราะห์อิทธิพลเหล่านั้น และสังเคราะห์ให้สอดคล้องกับความจริงที่ดำรงอยู่ในสังคมไทยปัจจุบันเพื่อให้ได้ประโยชน์และมีคุณค่าสูงสุดมากน้อยเพียงใด


มะลิฉัตร เอื้ออนันท์ (2533) ได้กล่าวถึงงานค้นคว้าวิจัยด้านวิธีการสอนศิลปะ (Art Instruction) เพื่อค้นหาวิถีทางให้เด็กได้เรียนอย่างมีประสิทธิภาพซึ่งได้แก่ งานวิจัยเกี่ยวกับการค้นหาวิธีการสอนโดยให้เด็กใช้การแก้ปัญหาด้านการวาดภาพด้วยการลอกเลียนแบบ (Copying) อาทิเช่น งานวิจัยของพาริเซอร์ (Pariser,1979) ได้ศึกษาพฤติกรรมการวาดภาพของเด็ก โดยเสนอความเห็น 3 ทฤษฎี ดังนี้ คือ

ทฤษฎีที่ 1 กล่าวว่าเด็กนั้นวาดภาพถ่ายทอดงานศิลปะตามแบบอย่างที่เคยมีมาก่อน (graphic conventions) ซึ่งเป็นอิทธิพลของวัฒนธรรมของเด็กชนชาตินั้น เช่น รูปกระต่ายของเด็กอเมริกันอาจมีลักษณะเดียวกับ “บั๊กบันนี่” (Bug Bunny) ตัวการ์ตูนที่มีชื่อเสียงของอเมริกา ซึ่งแนวความคิดของทฤษฎีนี้เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมที่เรียกว่า ลอกเลียนแบบ (Copying) ได้แก่ แนวคิดของกอมบริค (Gombrich,1972) และวิลสันและวิลสัน(Wilson and Wilson,1977)

ทฤษฎีที่ 2 กล่าวถึงทักษะในการวาดภาพของเด็กนั้นเป็นผลมาจาก การที่เด็กได้สัมผัสโดยตรง รับรู้จากประสบการณ์ตรงกับสิ่งต่างๆ จากโลกรอบตัวของเด็ก เด็กใช้สื่อถ่ายทอดสิ่งที่เด็กรับรู้สัมผัสในรูปของงานศิลปะ ดังนั้นงานที่เด็กทำ เป็นผลรวมของการรวมตัวจัดระบบผสานตัวกันระหว่างการรับรู้ (perception) และการถ่ายทอดสื่อความหมาย (Golomb,1974)

ทฤษฎีที่ 3 เสนอแนะว่าการถ่ายทอดงานศิลปะของเด็กเป็นผลมาจากการผสมผสานกันระหว่างการรับรู้สัมผัส และทักษะในการวาดให้แก่เด็ก งานวิจัยของพาริเซอร์ สรุปว่า ทักษะในการวาดและถ่ายทอดงานของเด็กนั้น มีการผสมผสานกันระหว่างการรับรู้ และการเคยเห็นแบบมาก่อน เขาเสนอแนะว่าวิธีการสอนแบบลอกเลียนแบบนั้นอาจไม่น่าเป็นอันตรายต่อพัฒนาการด้านศิลปะของเด็กก็ได้


การลอกภาพจากหนังสือการ์ตูน จัดว่าเป็นกิจกรรมศิลปะที่โปรดปรานของเด็กทุกคน ศิลปิน และนักเขียนภาพที่มีชื่อเสียงต่างก็เคยลอกภาพจากหนังสือการ์ตูนมาแล้วทั้งสิ้น บางคนชอบลอกตรากล่องไม้ขีด กล่องใส่ของ เครื่องหมาย และลวดลายต่างๆ รวมถึงป้ายปิดโฆษณาภาพยนตร์ และงานจำลองแบบของศิลปิน ตามทฤษฎีสร้างสรรค์ถือว่า การที่เด็กชอบลอกเลียนแบบ จะทำให้ความคิดสร้างสรรค์ของเด็กถูกบั่นทอน จนไม่กล้าทำอะไรที่เป็นตัวของตัวเอง แต่ถ้าลองพิจารณากันให้ดีแล้ว การลอกภาพไม่ใช่ว่าจะไม่เกิดประโยชน์อะไรแก่เด็กเลย เพราะการทำงานศิลปะมีองค์ประกอบหลายๆ ส่วน ได้แก่ ส่วนที่เป็นเทคนิควิธีการ และส่วนที่เป็นจินตนาการหรือความคิดสร้างสรรค์ การลอกภาพจากหนังสือการ์ตูนจะช่วยส่งเสริมความสามารถด้านเทคนิควิธีการ และทำให้มีความคล่องตัวในการใช้วัสดุยิ่งขึ้น (พีระพงษ์ กุลพิศาล,2531) 

แน่นอนว่าการลอกภาพเพียงอย่างเดียวไม่ได้สร้างเสริมจินตนาการอันกว้างไกลให้กับเด็ก แต่ก็เป็นกิจกรรมหนึ่งที่ช่วยกระตุ้นให้เด็กเห็นคุณค่าของรูปร่าง รูปทรง และสีสันต่างๆ รวมทั้งความเพลิดเพลินและภาคภูมิใจที่จะมีขึ้นแก่ตนเอง


นักการศึกษาด้านศิลปะในปัจจุบันเริ่มลดการต่อต้านวิธีการเลียนแบบงานศิลปะลง และเริ่มมีทัศนะที่เป็น
กลางมากขึ้น นักจิตวิทยาบางคนชี้ให้เห็นแง่ดี และแง่เสียของการเลียนแบบว่า การเลียนแบบไม่สามารถเป็นวิถีทางที่เด็กถ่ายทอดโลกแห่งความจริงของเด็กได้ทั้งหมด แบบที่เด็กลอกอาจเป็นสิ่งเร้าที่ดีในการกระตุ้นความสนใจใคร่รู้ของเด็กในอันที่จะแสวงหากลวิธีในการแก้ปัญหา แต่ถ้าแบบที่เด็กลอกนั้นไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับหัวใจของการแสดงออกด้านสุนทรียภาพของตัวเด็กเอง เด็กอาจลอกรูปแบบหนึ่ง เพื่อทำให้สามารถวาดรูปนั้นๆ ได้ แต่ถ้าเด็กไม่สามารถนำกลวิธีนั้นไปประยุกต์ใช้ในการวาดรูปอื่น การเลียนแบบในลักษณะนี้ก็ไม่น่าจะมีประโยชน์หรือเสริมสร้างสิ่งใดให้แก่เด็ก การเลียนแบบจะให้ผลดีแก่เด็กก็ต่อเมื่อการเลียนแบบนั้นเป็นเครื่องมือ หรือหนทางเสนอแนะการแก้ปัญหาให้กับเด็ก เพื่อเป็นวิถีทางที่ช่วยให้เด็กได้แสดงออกถึงความคิดเห็นของตนเอง มากกว่าที่จะเป็นหนทางให้เด็กสามารถสร้างผลงานให้เหมือนผลงานของผู้อื่นที่มีชื่อเสียงหรือที่ได้รับการยกย่อง (มะลิฉัตร เอื้ออนันท์,2535)


การ์ตูนมีอิทธิพลต่อเด็กในปัจจุบันอย่างยิ่ง เนื่องจากคุณสมบัติของการ์ตูนเป็นสิ่งที่สามารถสนองตอบต่อความสนใจ รสนิยม และวุฒิภาวะของเด็กในช่วงอายุต่างๆ ได้เป็นอย่างดี การ์ตูนมีลักษณะที่เร้าใจ มีชีวิตชีวา สร้างความสนุกสนานและเพลิดเพลิน ความตื่นเต้น ตลกขบขัน และความประทับใจให้กับเด็กได้ในทุกโอกาส ในปัจจุบันสื่อต่างๆ ที่อยู่รอบตัวเด็ก ทั้งทางโทรทัศน์ หนังสือ แผ่นป้ายโฆษณาต่างๆ ล้วนแล้วแต่ใช้กลยุทธ์การเข้าถึงตัวเด็ก โดยใช้การ์ตูนทั้งสิ้น 

ทั้งนี้เพราะการ์ตูนเปรียบเสมือนเพื่อนที่อยู่ใกล้ตัวเด็ก สามารถเข้าถึงเด็กได้ทุกเพศ ทุกวัย และทุกเวลา โดยปกติเด็กมักจะมีการ์ตูนตัวโปรดที่อยู่ในใจ การ์ตูนตัวโปรดมักจะมาจากภาพยนตร์ที่ชอบ จากหนังสือการ์ตูนที่วางอยู่ทั่วไป จะพบว่าเด็กมักวาดภาพการ์ตูนที่ลอกเลียนแบบการ์ตูนตัวโปรดของตน 

การวาดภาพจะมีประโยชน์ต่อเด็กมากน้อยเพียงใดนั้น จุดสำคัญที่สุดอยู่ที่การมีอิสระที่จะวาด จะฝันหรือจินตนาการ การถูกบีบบังคับจากผู้ใหญ่ อาจเกิดผลกระทบต่อตัวเด็ก โดยที่เด็กอาจเลิกสนใจการวาดภาพไปเลยก็ได้



เอกสารอ้างอิง

พีระพงษ์ กุลพิศาล. (2531).มโนภาพการรับรู้ทางศิลปะ. หน่วยศึกษานิเทศก์, กรมการฝึกหัดครู.

เพชรชมพู เทพพิพิธ.(2533). ”ความสัมพันธ์ระหว่างความชอบหนังสือการ์ตูน รายการโทรทัศน์และ
เกมคอมพิวเตอร์ กับพฤติกรรมก้าวร้าวของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6”. วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

มะลิฉัตร เอื้ออนันท์. (2532). “การที่เด็กวาดรูปในลักษณะลอกเลียนแบบเป็นสิ่งต้องห้ามหรือไม่”.
สูจิบัตรนิทรรศการภาพศิลปะเด็กไทย.

. (2533). “วิจัยด้านวิธีการสอนศิลปะ”. นิทรรศการทัศนศิลป์วันสมเด็จพระเทพรัตน ราชสุดาฯ

. (2535). “การเลียนแบบ”. สารานุกรมศึกษาศาสตร์. ฉบับที่ 11.

. (2530). “อิทธิพลของระบบการเรียนการสอนสองระบบที่มีต่อศิลปศึกษา”. ทัศนศิลป์เชิงปฏิบัตการ,ภาพพิมพ์.

วิรุณ ตั้งเจริญ. (2535). ศิลปะและความงาม. กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์โอเดียนสโตร์.

Gardner, Howard. (1980). Artful Scribbles. New York : Basic Books.

Golomb, Claire. (1972). Young children’s Sculpture and Drawing. Harvard University Press.

Wilson Marjorie. And Brent Wilson. (1982).Teaching Children to Draw : A Guide for Teacher &
Parent. Prentice-Hall,Inc.,Englewood Cliffs,New Jersey, U.S.A.

Barrett,M.D. and P.H.Light. (1976). Symbolism and Intellectual Realism in Children’s Drawing”.British Journal of Education Psychology.

Pariser,D.A. (1979). “Two methods of Teaching Drawing Skills”. Study in art Education. Wilson, Brent and Majorie Wilson. (1979). “An Iconoclastic View of the Imagery Sources in the
Drawing of Young People”. Art Education.

Wilson, Brent. (1974). “The Super Heroes of J.C.Holz and A Theory of Children Art”. Art Education. NAEA.

Young, David-E. (1982). “Aesthetic Response as Copying Behavior : An Anthropological Perspective”. Studie-in-Art-Education.

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

การวาดภาพทิวทัศน์ (Landscape)

มารู้จักภาพทัศนียภาพ - Perspective

การวาดภาพทิวทัศน์แบบง่ายๆ ที่ใครๆ ก็สามารถวาดได้