Color of Fun : EP.1 - สีโปสเตอร์ (Poster Color)

Color of Fun : EP.1 ตอนนี้จะนำเสนอเรื่องราวของสีโปสเตอร์ให้ได้รู้จักกัน เพื่อจะได้เป็นพื้นฐานในการที่จะนำไปใช้ในการระบายสีโปสเตอร์ขั้นตอนต่อๆ ไป

สีโปสเตอร์ เป็นสีชนิดสีฝุ่น (Tempera) ที่ผสมกาวน้ำบรรจุเสร็จเป็นขวด การใช้งานเหมือน กับสีน้ำ คือใช้น้ำเป็นตัวผสมให้เจือจาง สีโปสเตอร์เป็นที่สีทึบแสง มีเนื้อสีข้น สามารถระบายให้มี เนื้อเรียบได้ และผสมสีขาวให้มีน้ำหนักอ่อนลงได้เหมือนกับสีน้ำมัน หรือสีอะครีลิค 

สามารถระบายสีทับกันได้ มักใช้ในการวาดภาพ ภาพประกอบเรื่อง ในงานออกแบบต่างๆ ได้สะดวก ในขวดสีโปสเตอร์มีส่วนผสมของกลีเซอรีน จะทำให้แห้งเร็ว


หรืออาจจะกล่าวได้ว่า สีโปสเตอร์เป็นสีน้ำชนิดหนึ่งเนื่องจากมีน้ำเป็นส่วนผสม นิยมบรรจุขวด มีเนื้อสีข้นค่อนข้างหยาบ และมีคุณสมบัติทึบแสง เพราะเติมแป้งหรือเนื้อสีขาวลงไป เรียกว่า “สีแป้ง”


คุณสมบัติของสีโปสเตอร์
  • การเขียนภาพด้วยสีโปสเตอร์สามารถวาดภาพให้มีน้ำหนักแสงเงาได้เช่นเดียวกับการวาดภาพด้วยสีน้ำ
  • สีโปสเตอร์เป็นสีที่มีลักษณะขุ่นทึบ เนื้อสีมีลักษณะคล้ายแป้ง ซึ่งแตกต่างจากลักษณะของสีน้ำที่โปร่งใส สีโปสเตอร์เหมือนกันกับสีน้ำตรงที่เมื่อจะใช้ในการระบายภาพวาดจะต้องผสมน้ำ
  • การเขียนสีโปสเตอร์ สามารถระบายด้วยพู่กันซ้ำๆ ที่เดิมได้ ซึ่งแตกต่างจากสีน้ำ ถ้าระบายถูไปมาด้วยพู่กันซ้ำหลายๆ ครั้งจะทำให้สีช้ำ สกปรก กระดาษเป็นขุยดูไม่สวย สำหรับสีโปสเตอร์ นอกจากการใช้พู่กันเกลี่ยสีซ้ำที่ได้แล้ว ยังนิยมผสมกับสีขาวเมื่อต้องการให้สีอ่อนลงมากน้อยเพียงใดก็ขึ้นอยู่กับปริมาณสีขาวที่ผสมลงไป และเมื่อต้องการให้ความจัดของสีหม่นลงหรือเมื่อต้องการให้สีนั้นมีน้ำหนักเข้มขึ้น ก็ให้ผสมด้วยสีดำตามปริมาณมากน้อยตามที่ต้องการ
  • การฝึกเขียนสีโปสเตอร์ในเบื้องต้นก็เช่นเดียวกับการฝึกเขียนสีน้ำ มักนิยมเขียนจากหุ่นนิ่งเพื่อให้เกิดชำนาญ มีทักษะ รู้จักสังเกตเห็นลักษณะของสี และค้นพบเทคนิคการระบายสีด้วยตนเอง จากนั้นจึงใช้เทคนิคการเขียนสีโปสเตอร์เหล่านั้นมาเขียนภาพสื่อความคิด จินตนาการเป็นเรื่องราวหรือเหตุการณ์ต่างๆ ได้ตามความต้องการ


วิธีการระบายสีโปสเตอร์ให้สีผสมผสานกลมกลืนกัน มี 2 วิธี ดังนี้

1. การระบายจากสีเข้มไปหาสีอ่อน เป็นการระบายสีโดยคำนึงถึงเงาเข้มของภาพก่อนแล้วค่อยลดน้ำหนักให้อ่อนจางลงด้วยการผสมสีขาว หรือสีใกล้เคียงกันในวงจรสีที่มีน้ำหนักอ่อนลงตามลำดับ มาผสมเพิ่มเข้าไปทีละน้อย ในลักษณะของการไล่น้ำหนักสี เพื่อให้ภาพสว่างกลมกลืนกัน

2. การรระบายจากสีอ่อนไปหาสีเข้ม เป็นการระบายสีโดยคำนึงถึงส่วนสว่าง หรือส่วนที่ได้รับแสงก่อน แล้วจึงค่อยๆ เพิ่มน้ำหนักให้เข้มขึ้นทีละน้อยด้วยการผสมสีดำ หรือสีตรงกันข้ามหรือสีใกล้เคียงกันในวงจรสีที่มีน้ำหนักเข้มขึ้นตามลำดับในลักษณะของการไล่น้ำหนักสี


ข้อควรรู้เกี่ยวกับสีโปสเตอร์
1. เมื่อซื้อสีโปสเตอร์มาใหม่ ให้เปิดขวดใช้ไม้กวนสีในขวดให้ทั่วจนสีเป็นเนื้อเดียวกัน

2. พู่กันสำหรับสีโปสเตอร์ ใช้ได้ทั้งชนิดปลายกลมและปลายแบน ควรมีขนที่อ่อนนุ่ม พู่กันแบบเบอร์เล็ก เช่น เบอร์ 4, 5, 6 ใช้เกลี่ยไล่ให้สีกลืนได้ดีในการวาดแบบมีแสงเงา

3. จานสีที่ใช้ควรเป็นจานสีที่มีหลุมกลมลึก ไม่ควรใช้จานสีที่เป็นช่องสี่เหลี่ยม เพราะเวลาที่กวนสีจะทำให้สีไม่เข้ากันดี เวลาระบายจะทำให้สีด่าง จานสีที่มีสีขาวจะช่วยให้ผสมสีไม่ผิดเพี้ยน

4. การผสมสีโปสเตอร์ควรผสมน้ำให้พอเหมาะ คือ ไม่ข้นหรือเหลวเกินไป แล้วต้องมีการกวนสีให้มากๆ ไม่ว่าจะใช้สีใดควรมีสีขาวผสมอยู่ด้วย ที่กล่าวมาคือวิธีที่จะทำให้ระบายสีได้เรียบสวยงาม

5. ถ้าต้องการระบายสีโปสเตอร์ให้เกิดแสงเงามีวิธีระบาย คือลงสีอ่อนก่อนไปหาสีเข้ม หรือลงสีเข้มแล้วไล่หาสีอ่อน แต่วิธีที่แนะนำคือ ให้สังเกตหาสีกลาง ระบายสีกลางก่อนแล้วจึงไล่เงาสีเข้ม ส่วนแสงลงด้วยสีอ่อนเกลี่ยให้กลืนกัน

6. การใช้ฟองน้ำแทนพู่กัน ใช้ปลายนิ้วบีบฟองน้ำ (สำหรับล้างจาน) ให้แน่นเล็กจะตามต้องการเช็ดให้หมาด แล้วนำไปแตะซ้ำๆ กัน บนภาพตามแสงเงา จะได้ภาพสวยงามไม่แพ้พู่กันกลม (AIR BRUSH)

7. ในงานที่ไม่พิถีพิถันมากนัก หรือเพื่อความประหยัด ใช้สีโปสเตอร์ผสมน้ำแล้วไปกรองด้วยผ้าสกรีนหรือผ้าอื่น นำไปใช้กับพู่กันกลมได้

8. ถ้าไม่สามารถเขียนสีโปสเตอร์ให้มีกรอบที่คมชัดได้ ก็ใช้เครื่องทุนแรงช่วย เช่นใส่สีในปากกาตีเส้นปรับขนาดเส้นตามต้องการ หรือใช้กระดาษกาวสำหรับกันสี หาซื้อได้จากร้านเครื่องก่อสร้างนำมากันส่วนที่ไม่ต้องการ หรือ กันสีด้วยแผ่นฟิล์มที่ใช้สำหรับงานพู่กันกลมก็ได้แต่ราคาแพงหน่อย ทางที่ดีควรฝึกใช้ฝีมือเราเองจะดีที่สุด

9. สีโปสเตอร์ผสมกับปูนพลาสเตอร์ แล้วใช้เกรียงเพนท์บนวัสดุต่างๆ เมื่อแข็งตัวจะได้งานที่นูนสวยงามไม่แพ้สีน้ำมัน เป็นที่ระลึกได้

10. ถ้าจะประหยัด ใช้สีโปสเตอร์ระบาย หรือตกแต่งวัสดุต่างๆ เช่น กระเบื้องไม้ฯลฯ ก็สามารถทำได้ เสร็จแล้วใช้แลคเกอร์สเปย์พ่นทับเสียเพี่อความทนทาน

11. สีโปสเตอร์นั้นทึบแสง การเขียนภาพแล้วใช้สีโปสเตอร์สีขาว ระบายตกแต่งส่วนที่เป็นแสงจัดหรือส่วนที่เป็นแสงสะท้อนได้อย่างดี แต่อย่าใช้ในงานสีน้ำแนวจิตรกรรม ส่วนงานออกแบบไม่ว่าเป็นสีอะไรก็ทับได้



อุปกรณ์เบื้องต้นสำหรับการระบายสีโปสเตอร์


1. กระดาษสำหรับระบายสี ขนาดตามความต้องการ หนาตั้งแต่ 200 แกรม ขึ้นไป
2. สีโปสเตอร์ ได้แก่ สีแดง, เหลือง, น้ำเงิน, สีขาว, สีดำ, สีน้ำตาล, สีม่วง และสีเขียว
3. พู่กันกลม และแบน ขนาดตามความต้องการของผู้ใช้
4. จานสี ลักษณะคล้ายๆ ตามแบบ
5. กระดาษกาวนิตโต้ สำหรับกั้นสี หรือติดกระดาษกับกระดานรองเขียน
6. ผ้าสำหรับทำความสะอาดพู่กัน 
7. อุปกรณ์อื่นๆ เช่น ดินสอ, ยางลบ, กระดานรองเขียน, ถังใส่น้ำล้างพู่กัน

ผลงานของผู้เรียบเรียง เทคนิคสีโปสเตอร์บนกระดาษ


ผลงานบางส่วนของผู้เรียน เทคนิคสีโปสเตอร์บนกระดาษ


ข้อมูลและภาพบางส่วน เรียบเรียงจากอินเตอร์เน็ต

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

มารู้จักภาพทัศนียภาพ - Perspective

การวาดภาพทิวทัศน์ (Landscape)

การวาดภาพทิวทัศน์แบบง่ายๆ ที่ใครๆ ก็สามารถวาดได้