พระเจ้าเก้าตื้อ : พระพุทธรูปสำคัญของล้านนา
พระเจ้าเก้าตื้อ เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ประทับขัดสมาธิราบหน้าตักกว้าง 2.90 เมตร สูง 3.89 เมตร ศิลปะล้านนาอิทธิพลสุโขทัย (พ.ศ. 2047) หรือที่เรียกกันว่า “ศิลปะเชียงแสนสิงห์สอง” ประทับบนฐานหน้ากระดานเกลี้ยง พระพักตร์รูปไข่ ขมวดพระเกศาเล็ก พระรัศมีเป็นเปลว พระขนงโก่ง พระโอษฐ์อมยิ้ม ริมฝีพระโอษฐ์เป็นคลื่นเหมือนศิลปะสุโขทัยพระอังสาใหญ่ บั้นพระองค์เล็ก หน้าตักกว้าง ลักษณะสังฆะฏิเป็นแผ่นใหญ่ และยาวจรดพระนาภี อาจบ่งบอกถึงรูปแบบศิลปะอยุธยาที่ผสมผสานในพระพุทธรูปด้วย
ประวัติพระเจ้าเก้าตื้อ
ปรากฏในพงศาวดารโยนกว่า พระเมืองแก้ว หรือ พระเจ้าศิริธรรมจักรพรรดิราช (พ.ศ. 2038 – 2068) โปรดให้สร้างพระพุทธรูปสำริดองค์ใหญ่ เพื่อจะนำไปประดิษฐานเป็นพระประธานในพระวิหารหลวง วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร โดยเริ่มทำการหล่อในวันพฤหัสบดี เดือน 8 ขึ้น 11 ค่ำ ปีชวดฉอศก จุลศักราช 866 ตรงกับ พ.ศ. ๒๐๔๗ แล้วเสร็จเมื่อวันพฤหัสบดี เดือน ๕ ขึ้น ๕ ค่ำ ปีฉลู สัปตศก จุลศักราช ๔๖๗ ตรงกับ พ.ศ. 2048 แต่ครั้นเมื่อหล่อสำเร็จแล้วองค์พระมีขนาดใหญ่ และมีน้ำหนักมากจึงไม่สามารถเคลื่อนย้ายเข้าไปในเมืองได้ พระเมืองแก้ว จึงได้ถวายเรือนหลวงของพระองค์สร้างพระวิหารใกล้กับ วัดบุปผาราม หรือ วัดสวนดอก เพื่อถวายให้เป็นที่ประดิษฐานองค์ พระเจ้าเก้าตื้อ ครั้นถึงวันพุธ เดือน 5 ขึ้น 4 ค่ำ ปีมะเส็ง เอกศก จุลศักราช 870 ตรงกับ พ.ศ. 2052 จึงได้โปรดให้เคลื่อนย้าย พระเจ้าเก้าตื้อเข้าไปประดิษฐานในพระอุโบสถวัดบุปผาราม และเฉลิมนามของพระพุทธปฏิมาองค์นี้ว่า “พระเจ้าสิริทรงธรรม จักรพรรดิราช”
คำว่า ตื้อ เป็นหน่วยวัดน้ำหนักโลหะของล้านนาในสมัยโบราณ 1 ตื้อ เท่ากับ 1,000 กิโลกรัม (บางตำรากล่าวว่า 1 ตื้อ หนัก 1,200 กิโลกรัม) พระเจ้าเก้าตื้อ หมายถึง พระพุทธรูปที่หล่อด้วยโลหะ 9,000 กิโลกรัม หรือ 9 ตัน หรือหมายถึง พระพุทธรูปองค์ใหญ่นั่นเอง
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น