จรรยาบรรณของคนเป็น "ครู"

จรรยาบรรณวิชาชีพครู (Code of Ethics of Teaching Profession)


ความหมาย
จรรยาบรรณในวิชาชีพ หมายถึงประมวลมาตรฐานความประพฤติที่ผู้ประกอบวิชาชีพจะต้องประพฤติปฏิบัติเป็นแนวทางให้ผู้ประกอบวิชาชีพปฏิบัติอย่างถูกต้องเพื่อผดุงเกียรติและสถานะของวิชาชีพนั้นก็ได้ผู้กระทำผิดจรรยาบรรณ จะต้องได้รับโทษโดยว่ากล่าว ตักเตือน ถูกพักงาน หรือถูกยกเลิกใบประกอบวิชาชีพได้

ความสำคัญ
จรรยาบรรณในวิชาจะเป็นสิ่งสำคัญในการที่จะจำแนกอาชีพว่าเป็นวิชาชีพหรือไม่ อาชีพที่เป็น “วิชาชีพ” นั้นกำหนดให้มีองค์กรรองรับ และมีการกำหนดมาตรฐานของความประพฤติของผู้อยู่ในวงการวิชาชีพซึ่งเรียกว่า “จรรยาบรรณ“ ส่วนลักษณะ “วิชาชีพ ” ที่สำคัญคือ เป็นอาชีพที่มีศาสตร์ชั้นสูงรองรับ มีการศึกษาค้นคว้าวิจัยและพัฒนาวิชาชีพมีการจัดการสอนศาสตร์ดังกล่าวในระดับอุดมศึกษาทั้งการสอนด้วยทฤษฏีและการปฏิบัติจนผู้เรียนเกิดความชำนาญ และมีประสบการณ์ในศาสตร์นั้น นอกจากนี้จะต้องมีองค์กรหรือสมาคมวิชาชีพ ตลอดจนมี “จรรยาบรรณในวิชาชีพ” เพื่อให้สมาชิกในวิชาชีพดำเนินชีวิตตามหลักมาตรฐานดังกล่าวหลักที่กำหนดในจรรยาบรรณวิชาชีพทั่วไป คือ แนวความประพฤติปฏิบัติที่มีต่อวิชาชีพต่อผู้เรียน ต่อตนเอง และต่อสังคม

จรรยาบรรณวิชาชีพครู มีความสำคัญต่อวิชาชีพครูเช่นเดียวกับที่จรรยาบรรณวิชาชีพ มีความสำคัญต่อวิชาชีพอื่นๆ ซึ่งสรุปได้ 3 ประการ คือ

1) ปกป้องการปฏิบัติงานของสมาชิกในวิชาชีพ
2) รักษามาตรฐานวิชาชีพ
3) พัฒนาวิชาชีพ

จรรยาบรรณวิชาชีพครู จะต้องมีลักษณะ 4 ประการ คือ

1) เป็นคำมั่นสัญญาหรือพันธะผูกพันต่อผู้เรียน (Commitment to the student)
2) เป็นคำมั่นสัญญาหรือพันธะผูกพันต่อสังคม (Commitment to the society)
3) เป็นคำมั่นสัญญาหรือพันธะผูกพันต่อวิชาชีพ (Commitment to the profession)
4) เป็นคำมั่นสัญญาหรือพันธะผูกพันต่อสถานปฏิบัติงาน (Commitment to the employment practice)

พัฒนาการของจรรยาบรรณวิชาชีพครู

1. จรรยาบรรณครู 2506 (เรียกว่า จรรยามารยาทครู มี 10 ประการ )

1) ครูควรมีศรัทธาในอาชีพครู และให้เกียรติแก่ครูด้วยกัน
2) ครูควรบำเพ็ญตนให้สมกับที่ได้ชื่อว่าเป็นครู
3) ครูควรใฝ่ใจศึกษาหาความรู้ความชำนาญอยู่เสมอ
4) ครูควรร่วมมือกับผู้ปกครองในการอบรมสั่งสอนเด็กอย่างใกล้ชิด
5) ครูควรตั้งใจฝึกสอนศิษย์ห้เป็นพลเมืองที่ดีของชาติ
6) ครูควรรู้จักเสียสละและรับผิดชอบในหน้าที่การงานทั้งปวง
7) ครูควรรักษาชื่อเสียงของคณะครู
8) ครูควรรู้จักมัธยัสถ์และพยายามสร้างฐานของตนเอง
9) ครูควรยึดมั่นในศาสนาที่นับถือและไม่ลบหลู่ศาสนาอื่น
10) ครูควรบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์แก่สังคม

ที่มา : คุรุสภา, ระเบียบว่าด้วยจรรยามารยาทอันดีงามตามประเพณีของครู ตามอำนาจที่พระราชบัญญัติครูมาตรา 28 กำหนดไว้เมื่อ พ.ศ. 2506

2. จรรยาบรรณครู 2526 (เรียกว่า จรรยามารยาทและวินัยตามระเบียบประเพณีของครู มี 10ประการ)

1) เลื่อมใสการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขด้วยความบริสุทธิ์ใจ
2) ยึดมั่นในศานาที่ตนนับถือ ไม่ลบหลู่ดูหมิ่นศาสนาอื่น
3) ตั้งใจสั่งสอนศิษย์และปฏิบัติหน้าที่ของตนให้เกิดผลดีด้วยความเอาใจใส่ อุทิศเวลาของตนให้แก่ศิษย์จะละทิ้งทอดทิ้งหน้าที่การงานมิได้
4) รักษาชื่อเสียงของตนมิให้ขึ้นชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่ว ห้ามประพฤติการใด ๆ อันอาจทำให้เสื่อมเสียเกียรติและชื่อเสียงของครู
5) ถือปฏิบัติตามระเบียบและแบบธรรมเนียมอันดีงามของสถานศึกษา และปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา ซึ่งสั่งในหน้าที่การงานโดยชอบด้วยกฏหมายและระเบียบแบบแผนของสถานศึกษา
6) ถ่ายทอดวิชาความรู้โดยไม่บิดเบือนและปิดบังอพราง ไม่นำหรือยอมให้นำผลงานทางวิชาการของตนไปใช้ในทางทุจริตหรือเป็นภัยต่อมนุษยชาติ
7) ให้เกียรติแก่ผู้อื่นทางวิชาการโดยไม่นำผลงานของผู้ใดมาแอบอ้างเป็นผลงานของตน และไม่เบียดบังใช้แรงงานหรือนำผลงานของผู้อื่นไปเพื่อประโยชน์ส่วนตน
8) ประพฤติอยู่ในความซื่อสัตย์สุจริต และปฏิบัติหน้าที่ของตนด้วยความเที่ยงธรรมไม่แสวงหาประโยชน์สำหรับตนเอง หรือผู้อื่นโดยมิชอบ
9) สุภาพเรียบร้อยประพฤติตนเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ศิษย์ รักษาความลับของศิษย์ ของผู้ร่วมงานและของสถานศึกษา
10) รักษาความสามัคคีระหว่างครู และช่วยเหลือกันในหน้าที่การงาน

ที่มา : คุรุสภา, ระเบียบว่าด้วยจรรยามารยาทอันดีงามตามประเพณีของครู, 2526

3.จรรยาบรรณครู 2537 (เรียกว่า เกณฑ์มาตรฐานวิชาชีพครูของคุรุสภา พ.ศ. 2537 มี 11 ประการ)
1) ปฏิบัติกิจกรรมทางวิชาการเกี่ยวกับการพัฒนาวิชาชีพครูอยู่เสมอ
2) ตัดสินใจปฏิบัติกิจกรรมต่างๆ โดย คำนึงถึงผลที่จะเกิดกับผู้เรียน
3) มุ่งมั่นพัฒนาผู้เรียนให้เต็มตามศักยภาพ
4) พัฒนาแผนการสอนให้สามารถปฏิบัติได้เกิดผลจริง
5) พัฒนาสื่อการเรียนการสอน ให้มีประสิทธิภาพอยู่เสมอ
6) จัดกิจกรรมการเรียนการสอน โดยเน้นผลถาวรที่เกิดแก่ผู้เรียน
7) รายงานผลการพัฒนาคุณภาพของผู้เรียนได้อย่างมีระบบ
8) ปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ผู้เรียน
9) ร่วมมือกับผู้อื่นในสถานศึกษาอย่างสร้างสรรค์
10) ร่วมมือกับผู้อื่นอย่างสร้างสรรค์ในชุมชน
11) แสวงหาและใช้ข้อมูลข่าวสารในการพัฒนา

ที่มา : สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา, เกณฑ์มาตรฐานวิชาชีพครู ของคุรุสภา พ.ศ. 2537กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว, 2540

4. จรรยาบรรณครู 2539 (เรียกว่า แบบแผนพฤติกรรมตามจรรยาบรรณครู พ.ศ. 2539 มี 9 ประการ)

1) ครูต้องรักและเมตตาศิษย์ โดยให้ความเอาใจใส่ช่วยเหลือ ส่งเสริมให้กำลังใจในการศึกษาเล่าเรียนแก่ศิษย์โดยเสมอหน้า
2) ครูต้องอบรม สั่งสอน ฝึกฝน สร้างเสริมความรู้ ทักษะและนิสัยที่ถูกต้องดีงามให้แก่ศิษย์ อย่างเต็มความสามารถด้วยความบริสุทธิ์ใจ
3) ครูต้องประพฤติ ปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ศิษย์ทั้งทางกาย วาจา และจิตใจ
4) ครูต้องไม่กระทำตนเป็นปฏิปักษ์ต่อความเจริญทางกาย สติปัญญา จิตใจ อารมณ์ และสังคมของศิษย์
5) ครูต้องไม่แสดงหาประโยชน์อันเป็นอามิสสินจ้างจากศิษย์ในการปฏิบัติหน้าที่ตามปกติ และไม่ใช้ศิษย์กระทำการใดๆ อันเป็นการหาประโยชน์ให้แก่ตนโดยมิชอบ
6) ครูย่อมพัฒนาตนเองทั้งในด้านวิชาชีพ ด้านบุคลิกภาพและวิสัยทัศน์ ให้ทันต่อการพัฒนาทางวิชาการ เศรษฐกิจ สังคมและการเมืองอยู่เสมอ
7) ครูย่อมรักและศรัทธาในวิชาชีพครู และเป็นสมาชิกที่ดีขององค์กรวิชาชีพครู
8) ครูพึงช่วยเหลือเกื้อกูลครูและชุมชนในทางสร้างสรรค์
9) ครูพึงประพฤติ ปฏิบัติตน เป็นผู้นำในการอนุรักษ์และพัฒนาภูมิปัญญาและวัฒนธรรมไทย

ที่มา : สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา, แบบแผนพฤติกรรมตามจรรยาบรรณครู พ.ศ. 2539.กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว, 2541

5. จรรยาบรรณครู 2546 (เรียกว่า จรรยาบรรณของ วิชาชีพ มี 5 กลุ่ม 9 ประการ) ดังนี้
จรรยาบรรณต่อตนเอง
1 ) ผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา ต้องมีวินัยในตนเอง พัฒนาตนเองด้านวิชาชีพ บุคลิกภาพ และวิสัยทัศน์ ให้ทันต่อการพัฒนาทางวิทยาการ เศรษฐกิจ สังคม และการเมืองอยู่เสมอ

จรรยาบรรณต่อวิชาชีพ
2) ผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา ต้องรัก ศรัทธา ซื่อสัตย์สุจริต รับผิดชอบต่อวิชาชีพ และเป็นสมาชิกที่ดีขององค์กรวิชาชีพ

จรรยาบรรณต่อผู้รับบริการ
3) ผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา ต้องรัก เมตตา เอาใจใส่ ช่วยเหลือ ส่งเสริมให้กำลังใจแก่ศิษย์ และผู้รับบริการ ตามบทบาทหน้าที่โดยเสมอหน้า
4) ผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา ต้องส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ ทักษะ และนิสัยที่ถูกต้องดีงามแก่ศิษย์ และผู้รับบริการ ตามบทบาทหน้าที่อย่างเต็มความสามารถ ด้วยความบริสุทธิ์ใจ
5) ผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา ต้องประพฤติปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างที่ดี ทั้งทางกาย วาจา และจิตใจ
6) ผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา ต้องไม่กระทำตนเป็นปฏิปักษ์ต่อความเจริญทางกาย สติปัญญา จิตใจ อารมณ์ และสังคมของศิษย์ และผู้รับบริการ
7) ผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา ต้องให้บริการด้วยความจริงใจและ เสมอภาคโดยไม่เรียกรับหรือยอมรับผลประโยชน์จากการใช้ตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบ

จรรยาบรรณต่อผู้ร่วมประกอบวิชาชีพ
8) ผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา พึงช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกันอย่างสร้างสรรค์ โดยยึดมั่นในระบบคุณธรรม สร้างความสามัคคีในหมู่คณะ

จรรยาบรรณต่อสังคม
9) ผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา พึงประพฤติปฏิบัติตนเป็นผู้นำในการอนุรักษ์และพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม ศาสนา ศิลปวัฒนธรรม ภูมิปัญญา สิ่งแวดล้อม รักษาผลประโยชน์ของ ส่วนรวม และยึดมั่นในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

ขอขอบคุณข้อมูลและภาพจากอินเตอร์เน็ต

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

การวาดภาพทิวทัศน์ (Landscape)

มารู้จักภาพทัศนียภาพ - Perspective

การวาดภาพทิวทัศน์แบบง่ายๆ ที่ใครๆ ก็สามารถวาดได้